โพลล์สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการคอรัปชั่น

ข่าวทั่วไป Tuesday November 19, 2013 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา ร่วมแถลงผลสำรวจกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อายุระหว่าง 15-25 ปี ส่วนใหญ่การศึกษาระดับมัธยมฯ-ปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 1,039 คน ในระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน 2556 ต่อพฤติกรรมการทุจริต คอรัปชั่น คดโกง นั้นกลุ่มสำรวจต่างรู้สึกรังเกียจ ขยะแขยง จำนวนหนึ่งในสามหรือร้อยละ 30.42 ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวจากผลการสำรวจสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.59 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.11 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 19 ถึง 22 ปี และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.01 มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ในด้านความรู้สึกต่อพฤติกรรมการทุจริต คอรัปชั่น คดโกง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประมาณเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.42 รู้สึกรังเกียจบุคคลที่มีพฤติกรรมทุจริต คอรัปชั่น คดโกง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.94 รู้สึกเศร้าใจ/ไม่สบายใจ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.62 รู้สึกเฉยๆ และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 4.52 ที่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าการมีพฤติกรรมทุจริต คอรัปชั่น คดโกงจะส่งผลเสียกับตัวบุคคลผู้มีพฤติกรรมนั้นๆ มากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 87.68 รองลงมาคือครอบครัว/บุคคลใกล้ชิด คิดเป็นร้อยละ 84.89 สถานศึกษา/ที่ทำงานโดยรวม คิดเป็นร้อยละ 81.52 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.44 คิดว่าส่งผลเสียกับประเทศชาติโดยรวม นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 53.22 ระบุว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมทุจริต คอรัปชั่น คดโกง ควรได้รับการลงโทษตามข้อกำหนดเพื่อให้สำนึก สำหรับความรู้สึกหากว่าบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนสนิทของกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมทุจริต คอรัปชั่น คดโกงนั้น หากทราบว่าบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนสนิทมีพฤติกรรมทุจริต คอรัปชั่น หรือคดโกง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.11 ระบุว่าสิ่งแรกที่ตนเองจะทำคือสืบหาความจริง ขณะที่ประมาณหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.02 ระบุว่าจะสอบถามเพื่อรับฟังคำอธิบาย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.53 ระบุว่าจะพยายามอยู่ห่างจากบุคคลดังกล่าว และถ้าพบว่าพฤติกรรมการทุจริต คอรัปชั่น หรือคดโกงของบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนสนิทเป็นความจริง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 78.92 จะว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้ทำอีก ร้อยละ 75.84 จะช่วยแนะนำ-จัดการแก้ไขให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และร้อยละ 69.87 จะแจ้งผู้เกี่ยวข้องทำการลงโทษ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66.51 จะเลิกคบ-ติดต่อกับบุคคลดังกล่าว และมีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 49.47 ที่จะแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.38 ระบุว่าตนเองจะไม่รับประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากการทุจริต คอรัปชั่น หรือคดโกงของบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนสนิท สำหรับความคิดเห็นต่อการให้อภัย/โอกาสกับบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนสนิทที่มีพฤติกรรมทุจริต คอรัปชั่น คดโกง กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 71.13 ระบุว่าหากบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนสนิทที่มีพฤติกรรมทุจริต คอรัปชั่น หรือคดโกง แสดงความสำนึกต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ตนเองจะให้อภัย/โอกาสต่อไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.98 ระบุว่าจะยังคงไม่ให้อภัย/โอกาส และหากบุคคลอื่นรับรู้ว่าบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนสนิทมีพฤติกรรมทุจริต คอรัปชั่น หรือคดโกง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.89 ระบุว่าตนเองไม่กลัวว่าบุคคลอื่นในสังคมจะคิดว่าตนเองมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนสนิทผู้นั้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.52 กลัวว่าบุคคลอื่นจะคิดว่าตนเองมีพฤติกรรมนั้นด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ