รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 15, 1998 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--15 ก.ค.--กรมสารนิเทศ
วานนี้ (14 กรกฎาคม 2541) นายการุณย์ ฤชุโยธิน รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. การสัมมนาทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนี้ (พุธที่ 15 กรกฎาคม 2541) เวลา 09.00 น. ฯพณฯ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางไปกล่าวเปิดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "พระปรีชาญาณด้านจีนศึกษาในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ที่ห้องประชุมชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. ความคืบหน้ากรณีศาลประชาชนนครโฮจิมินห์พิพากษาประหารชีวตนักธุรกิจไทย กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานเพิ่มเติมจากสถานเอกอัครราชทูร ณ กรุงฮานอยเกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีศาลนครโฮจิมินห์พิพากษาประหารชีวิตนายวิษณุ โชคทวีทรัพย์ว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 นายเฉลิมพล เอกอุรุ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอยได้ไปพบ นายเหงียน พู บีน (Nguyen Phu Binh) อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
2.1 ฝ่ายไทยเคารพต่อกระบวนการยุติธรรมของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาให้ประหารชีวิตนายวิษณุในคดีนี้ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความวิตกกังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักธุรกิจไทยในเวียดนาม ด้วยเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศทางการค้าและการลงทุนของไทยในเวียดนามเป็นอย่างมาก ทั้งยังไม่เป็นการส่งเสริมต่อความพยายามของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่ต้องการขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน เพราะหากพิจารณาจากความผิดในคดีเศรษฐกิจในลักษณะเช่นนี้ โดยทั่วไปก็ไม่น่าจะได้รับโทษถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรงมากในสายตาของคนทั่วไป ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอความร่วมมือให้กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาลดโทษให้นายวิษณุฯ ตามสมควรแก่ความผิดโดยไม่ต้องรับโทษประหารชีวิตพร้อมกับยื่นหนังสือของนายวิษณุฯ ให้อธิบดีกรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามพิจารณา
2. อธิบดีกรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามแจ้งว่าได้รับรายงานประสานงานเรื่องนี้จากเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเอกอัครราชทูตเวียดนามได้แสดงความห่วงกังวลต่อกรณีนี้เป็นอย่างมาก และว่าในเรื่องนี้รองนายกรัฐมนตรีของเวียนดนามและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามก็มีความกังวลเช่นกัน กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามจึงได้เสนอความเห็นถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้พิจารณาลดโทษให้นายวิษณุฯ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง และประธานาธิบดีเวียดนาม0ก็กำลังจะมาเยือนไทยในเดือนตุลาคมศกนี้ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามจะตอบสนองต่อคำขอของฝ่ายไทยด้วยดี
3. ความคืบหน้ากรณีข้าราชการไทยถูกจับกุมที่แขวงสะหวันนะเขต กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานเพิ่มเติมจากสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต เกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีนายพงษ์วิวัฒน์ วรเชษฐ์ บัญชา ดังนี้
3.1 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 นายอาจินต์ ดิษฐอินทร์ รองกงสุลใหญ่ ได้ประสานขอทราบความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานีทราบว่า ได้อำนวยความสะดวกให้ภรรยาและญาติของนายพงษ์วิวัฒน์ฯ เดินทางไปที่แขวงจำปาสักอีกครั้งหนึ่ง โดยได้นำหลักทรัพย์วงเงินหนึ่งล้านบาทเศษเพื่อขอประกันตัวนายพงษ์วิวัฒน์ฯ เนื่องจากในสัปดาห์ที่แล้วยังมิได้รับการประกันตัว เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจแขวงฯ อ้างว่าการสอบสวนนายพงษ์วิวัฒน์ฯ ยังไม่แล้วเสร็จ
3.2 รองกงสุลใหญ่ ได้รับแจ้งจากเจ้ากน้าที่ห้องว่าการแขวงจำปาสักว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยในกรณีนี้จะอยู่ในการพิจารณาของอัยการศาลประชาชนแขวงฯ เท่านั้น
4. การดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนไทย
กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ฯ ของไทยในการดำเนินการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศดังนี้
4.1 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ให้ความช่วยเหลือนางอารี และซัน อายุ 35 ปี ซึ่งเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบียบ โดยวีซ่าอุมเราะห์ แล้วถูกนำไปคว้าประเวณีที่เมืองอัลโคาบา ซึ่งต่อมานางอารีฯ ได้หลบหนีไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้มอบหมายให้สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ดำเนินการตามขั้นตอนส่งตัวกลับประเทศไทย โดยนางอารีฯ เดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 เวลา 11.00 น.
4.2 สถานเอกอัรราชทูต ณ สิงคโปร์ ได้ให้ความช่วยเหลือนางสาวลลิตา ต้นข้าว ซึ่งได้แจ้งแก่สถานอัคร-ราชทูตฯ ว่า มีนายหน้าคนไทยมาชักชวนให้ตนไปทำงานเป็นแม่บ้านซึ่งจะมีรายได้ดี แต่เมื่อเดินทางไปถึงสิงคโปร์ นายหน้าได้พาไปสถานที่ก่อสร้างและบังคับให้ค้าประเวณีโดยนายจ้างเก็บเงินค่าจ้างไปทั้งหมดและยึดหนังสือเดินทางไว้ นางสาวลลิตาฯ จึงได้หลบหนีไปยังสถานีตำรวจ ตำรวจจึงได้ส่งต่อไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสิงคโปร์ แต่โดยที่นางสาวลลิตาฯ ไม่มีที่พักก่อนเดินทางกลับ จึงไปขอพักอาศัยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญประจำตัว (LC) และได้จองตั๋วรถโดยสารให้เดินทางกลับประเทศไทย โดยนางสาวลลิตาฯ เดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 เวลา 08.00 น.
4.3 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ได้ให้ความช่วยเหลือในการออกหนังสือสำคัญประจำตัว (CI) แก่ นางสาวเสาวนีย์ อึงการี ซึ่งเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศฝรั่งเศส และถูกมิจฉาชีพขโมยกระเป๋าถือขณะรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม ทำให้ทรัพย์สินและหนังสือเดินทางสูญหาย นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยอีก 5 ราย ซึ่งถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุมขณะหลบทำงานในโรงงานเย็บผ้าชานกรุงปารีส คือน นายประชีพ ประสานทอง นายสุเมธ จันทร์พิพัฒน์ นายสมัย แน่นอุดร นายสมพร มาตย์นอก และนายเยี่ยม เพชรก้อน จากการสอบถามทราบว่า บุคคลทั้ง 5 ราย ได้เดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศสโดยเสียค่านายหน้าเป็นเงิน 60,000 - 100,000 บาท และเมื่อเดินทางถึงกรุงปารีส ถูกยืดหนังสือเดินทาง ซึ่งบุคคลทั้ง 5 รายได้เดินทางถึง ประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2541
4.4 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รับแจ้งจากโมซาฟมูฟเมนต์ว่า นายชวน ลัดนอกคนงานเกษตร ซึ่งทำงานอยู่ที่ โมซาฟ Yesha ได้เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุในระหว่างการนอนหลับในที่พักคนงาน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2541 ซึ่งทางโมซาฟมูฟเมนต์ได้แจ้งให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทราบแล้ว สำหรับสาเหตุของการเสียชีวิต สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับแจ้งจากบริษัทจัดหางานอิสราเอลว่า นายชวนฯ ได้ดื่มเหล้าวอดก้า 2 ขวด ในช่วงเวลากลางวันก่อนเข้านอนและเสียชีวิตในเช้ามืดของวันที่ 11 กรกฎาคม 2541
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 2250096 หรือ 2257900-43--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ