โพลล์เผยความคิดเห็นวัยรุ่นเรื่องการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (eLearning)

ข่าวทั่วไป Tuesday December 3, 2013 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการและดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลการสำรวจ ความคิดเห็นวัยรุ่นเรื่องการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (eLearning) การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการศึกษานั้นมีคุณอเนกอนันต์ ทั้งการประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา รวมถึงงบประมาณ และยังเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาไทยให้กับประชาชนได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาได้ทำการสำรวจเยาวชนไทยจำนวน 1,057 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า ระหว่างวันที่ 22-29 พฤศจิกายน 2556 ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวว่าจากผลการสำรวจสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.56 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.22 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 18 ถึง 21 ปี และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าโดยคิดเป็นร้อยละ 35.67 ในด้านความรับรู้ต่อการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.83 ระบุว่าการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามความรับรู้ของตนคือการใช้เทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ตและดิจิตอลเป็นสื่อสำหรับให้การศึกษากับผู้เรียน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.8 ระบุว่าการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์คือการศึกษาทางไกลที่ถ่ายทอดผ่านสื่อใดๆไปยังผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล สำหรับข้อดีของการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างสูงสุด 3 อันดับคือ มีเวลาเรียนที่ยืดหยุ่น (สามารถเรียนได้ในทุกเวลาที่สะดวก) คิดเป็นร้อยละ 79.94 สามารถเรียนได้ในทุกสถานที่ที่มีคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คิดเป็นร้อยละ 77.67 และประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียน คิดเป็นร้อยละ 76.44 ขณะที่การเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีข้อเสียตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างสูงสุด 3 อันดับคือ ไม่สามารถขอคำปรึกษา/ความช่วยเหลือจากครูอาจารย์ได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา/ข้อสงสัย/ความไม่เข้าใจในบทเรียน คิดเป็นร้อยละ 78.62 ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ในทุกสถานที่/การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความยากลำบาก คิดเป็นร้อยละ 75.69 และการเข้าถึงบทเรียนมีความยุ่งยาก คิดเป็นร้อยละ 72.75 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 55.72 มีความคิดเห็นว่าการเรียนผ่านสื่ออิเล็คทรอนิกส์กับการเรียนในห้องเรียนให้คุณภาพทางการศึกษาไม่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.82 และร้อยละ 75.59 มีความคิดเห็นว่าการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีส่วนช่วยขยายโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงการเรียนรู้ได้มากขึ้นและการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีส่วนช่วยให้คนไทยเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.79 มีความคิดเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.16 เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้เรียนในการศึกษาหาความรู้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.14 มีความสนใจในการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.82 คิดว่าตนเองมีความพร้อมในการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.23 และร้อยละ 74.74 มีความคิดเห็นว่าระบบการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ตนเองสนใจบทเรียนเพิ่มขึ้นได้ และมีความคิดเห็นว่าระบบการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะช่วยให้ตนเองมีเวลาศึกษาทำความเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ