งานเสวนา “พลังภาคประชาชน ทางออกประเทศไทย ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”

ข่าวทั่วไป Friday December 13, 2013 18:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาเก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ วงเสวนานักวิชาการหนุนพลังประชาชน สร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมนักวิชาการย้ำชัดทางออกประเทศไทยต้องขับเคลื่อน “พลังภาคประชาชน”ลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจท้องถิ่นขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ปฏิรูปโครงสร้างประเทศไทยเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในทุกระดับ ภายในงานเสวนา “พลังภาคประชาชน – ทางออกประเทศไทย – ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”ซึ่งจัดขึ้น ณ หอประชุมพุทธคยา อาคารอมรินทร์ พลาซ่า ซึ่งมีนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดร.ธราดล เปี่ยม พงศ์สานต์ กรรมการสถาบันออกแบบประเทศไทย ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้าร่วมระดมความเห็นและคิดวิเคราะห์ถึงประเด็นความสำคัญของการหล่อหลอมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ทุกฝ่ายมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า อนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องมีการผ่าตัดครั้งใหญ่ ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างในด้านต่างๆ พร้อมกับเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมอย่างแท้จริง ด้วยการพลิกฐานอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลกลางกระจายสู่ชุมชนท้องถิ่นให้มากขึ้นพร้อมกับตอกย้ำความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ อันเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นจิตสำนึกพัฒนาประเทศเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ดร.มานะ นิมิตรมงคล ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่ประชาชนทั่วประเทศ ทุกสาขาอาชีพออกมาแสดงพลังเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมาสะท้อนถึงความต้องการยืนหยัดไม่ยอมแพ้ต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยอีกต่อไปโดยชี้ว่าถึงแม้ไทยจะมีมาตรการทางกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่การบังคับใช้ ทำให้ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้เนื่องจากนักการเมืองผู้มีอำนาจจงใจมองข้ามอาทิ การไม่รับข้อเสนอร่างกฎหมายยืดอายุความคดีทุจริตให้ยาวนานกว่าคดีความทั่วไป การบังคับส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น “เวลานี้สิ่งที่เราควรทำเพื่อสู้กับคอร์รัปชั่น คือ การปฏิรูปให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยก่อนการเลือกตั้งต้องตกลงให้ชัดว่าให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้นักการเมืองไม่ลืมให้ประชาชนตรวจสอบเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามา” นอกจากนี้ควรมีการใช้มาตรการตรวจสอบภาษีย้อนหลังกับผู้ที่เข้ามาเล่นการเมืองด้วยว่า ที่มาของรายได้มาจากไหน เสียภาษีถูกต้องหรือไม่อีกด้วย ขณะที่นพ.อำพล จินดาวัฒนะระบุถึงความสำคัญของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายเพื่อเป็นกลไกตรวจสอบควบคู่ไปกับการมีประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่นักการเมืองปัจจุบันมักคิดเอาว่าตนเองเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนแล้วจะออกกฎหมายหรือบริหารประเทศอย่างไรก็ได้ “ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ที่เลือกแล้วก็มอบอำนาจให้ผู้แทนไปออกกฎหมาย บริหารประเทศเอาตามใจชอบแต่อำนาจอธิปไตยยังคงเป็นของประชาชนอยู่เสมอ ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ในการร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองไปในทิศทางที่ควรจะเป็น จึงต้องสร้างระบบกลไกใหม่เพื่อให้ประชาชนทุกระดับเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงทั้งในด้านกำหนดนโยบาย การตรวจสอบอำนาจรัฐเพื่อป้องกันมิให้อำนาจการบริหารจัดการรวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลมากเกินไป พร้อมกับเปิดพื้นที่สาธารณะให้มากและหลากหลายที่สุดเพื่อให้พลังพลเมืองอิสระได้เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติไร้ขีดจำกัด” นพ.อำพลกล่าว ดร.ธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นผลพวงของปัญหาที่รุมเร้าประเทศไทยมาเป็นเวลานาน โดยเกิดจากการละเลยของบรรดานักการเมืองผู้มีอำนาจ ทางสถาบันออกแบบประเทศไทยจึงมีข้อเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศที่สำคัญ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การปฏิรูปการเมือง การปกครอง และธรรมาภิบาล ต้องสร้างเสริมกลไลการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายต่างๆ กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน พร้อมกับพัฒนาระบบตรวจสอบอันเข้มข้นจากภาคประชาชนเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่ระบบราชการต้องปลอดจากอำนาจทางการเมือง และต้องกระจายให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายชุมชน 2) การปฏิรูปสวัสดิการสังคมและการศึกษาเพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 3) การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โปร่งใสเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว เช่น การถือครองที่ดิน ภาษีมรดก เป็นต้น สำหรับบทบาทของสื่อต่อการแก้ไขปัญหาขณะนี้นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติชี้ว่า บริบทของสื่อปัจจุบันถือว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะเกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างความคิดเชิงอุดมการณ์และความคิดเชิงธุรกิจซึ่งมีผลต่อการนำเสนอข่าวแต่ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งนี้ สองประเด็นสำคัญที่สื่อในฐานะกลไกการสื่อสารข้อมูลสู่ประชาชนควรรักษาไว้คือ การนำเสนอข่าวสารอย่างเท่าเทียมและเป็นกลางเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านมากที่สุด และต้องให้ “สติและศีลธรรม”กับสังคมผ่านการนำเสนอ โดยลดบทบาทการสร้างวาทกรรมความเกลียดชังที่จะสั่งสมและมีแต่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในที่สุด ด้านนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วอนอยากให้สังคมเข้าใจว่าท่ามกลางความขัดแย้ง นักข่าวเป็นผู้ที่ต้องรับความเสี่ยงอยู่ตรงกลาง มีแรงกดดันและความเสี่ยงมาก การจะฝ่าฟันปัญหาวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้จำเป็นต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนในสังคม องค์กรใดองค์กรหนึ่งไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะวิกฤตครั้งนี้มีตัวแปรและความเชื่อมโยงที่ซับซ้อน “นี่คือโอกาสที่เราจะกระตุ้นให้ทุกพลังทุกสถาบันในสังคมมาร่วมกันค้นหาวิธีเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ทั้งในระยะกลางและระยะยาวปลุกทุกคนให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของประเทศจำเป็นต้องช่วยกันแชร์พลัง ความคิด การแก้ปัญหา เพื่อให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงและก้าวข้ามปัญหาไปได้อย่างสันติ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ