6 บริษัท เข้าวินผ่านบอร์ด กนอ. จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามแผนยุทธศาสตร์

ข่าวทั่วไป Monday January 6, 2014 16:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอร์ด กนอ. พิจารณาเข้มข้นตัด 7 โครงการ จาก 13 โครงการ เหลือ 6 โครงการ เข้าวินจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ตามที่ กนอ. ประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนยื่นเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศในเชิง Area Base และ Cluster Base โดยมี 3 จังหวัดภาคอีสาน 2 จังหวัดภาคตะวันออก และ 1 จังหวัดภาคเหนือ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ กนอ. เผยหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่า มติคณะกรรมการ กนอ. เห็นชอบพิจารณาคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมจะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการให้ได้มาซึ่งที่ดิน ด้านเทคนิค ด้านการเงิน ด้านการตลาด และด้านการส่งเสริมการลงทุน ซึ่ง กนอ. ได้เลือกโครงการที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละประเภทที่เหมาะสมจะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วย โครงการนิคมอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (โครงการที่จังหวัดระยอง) และ บริษัท อีสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท (ระยอง) จำกัด (โครงการที่จังหวัดระยอง) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชียงของ ได้แก่ บริษัท เมืองเงินดีเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด (จังหวัดเชียงราย) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด (จังหวัดอุดรธานี), บริษัท นาคา คลีนเพาเวอร์ จำกัด (จังหวัดหนองคาย) และ บริษัท สวนอุตสาหกรรมพลังงาน (จังหวัดนครราชสีมา) ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องยื่นแบบคำขอเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน กับ กนอ. ภายใน 3 เดือน และต้องดำเนินการตามเงื่อนไขดังนี้ 1. ผู้เสนอโครงการจะต้องลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม กับ กนอ. ภายใน 3 เดือน หลังจากคณะกรรมการ กนอ. เห็นชอบให้ กนอ. ร่วมดำเนินงานจัดตั้งนิคมฯ กับผู้เสนอโครงการ 2. ผู้เสนอโครงการจะต้องดำเนินการจัดส่งเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกสารอื่นๆ เพื่อประกอบการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม โดยจะต้องจัดส่งให้ กนอ. พิจารณา ภายใน 1 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน 3. ผู้เสนอโครงการจะต้องจัดส่งรายงานผลการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับสมบูรณ์ ต่อ กนอ. เพื่อพิจารณา และนำเสนอ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณา ภายใน 6 เดือน หลังจากประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม 4. ผู้เสนอโครงการจะต้องดำเนินการยื่นขออนุมัติผังแม่บท ผังจัดสรรที่ดิน และแบบก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของโครงการนิคมอุตสาหกรรม ต่อ กนอ. ภายใน 3 เดือน หลังจ่กที่ EIA ได้รับอนุมัติจาก สผ. 5. ผู้เสนอโครงการจะต้องดำเนินการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หรือ ตามที่ กนอ. เห็นชอบ หลังจาก โครงการได้รับอนุมัติผังจัดสรร จาก กนอ. ทั้งนี้สามารถแบ่งระยะการพัฒนาโครงการ (Phasing) ได้ความเหมาะสมภายใต้การเห็นชอบของ กนอ. 6. ผู้เสนอโครงการต้องส่งมอบที่ดินให้ กนอ. เพื่อก่อสร้างศูนย์ OSS พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ หรือ ตามที่ กนอ. กำหนดภายใน 1 ปี หลังจากที่ได้รับอนุมัติผังวจัดสรรจาก กนอ. สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศในแง่ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัว ทางการค้า และการลงทุน ของภาคอุตสาหกรรม และบริการ ตลอดจนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East West Economic Corridor) โดย กนอ. มุ่งเน้นให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ระหว่างภาคอุตสาหกรรม ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม นายวิฑูรย์ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ