มหกรรม “พลังบวร ยกระดับการเรียนรู้ เชิดชูครูสอนดี” จังหวัดชัยภูมิ ผนึกกำลังปฏิรูปการเรียนรู้เด็กและเยาวชน ตั้งเป้า “3 ปี เด็กอ่านไม่ออกเหลือ 0”

ข่าวทั่วไป Thursday January 16, 2014 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ไอแอมพีอาร์ สภาส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนจังหวัดชัยภูมิ (สรช.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมจัดมหกรรม “พลังบวร ยกระดับการเรียนรู้ เชิดชูครูสอนดี” จังหวัดชัยภูมิ ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองชัยภูมิ รวมพลัง“ครูสอนดี” โชว์นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมผนึกกำลังบ้าน ชุมชน วัด และโรงเรียน ปฏิรูปการเรียนรู้เด็กและเยาวชน ดึงภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตั้งเป้า 3 ปีแก้ปัญหาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สภาส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนจังหวัดชัยภูมิ (สรช.) ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ให้เป็น “จังหวัดดีเด่น” ตามโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่องเชิดชู ครูสอนดี” จัดงาน “พลังบวรยกระดับการเรียนรู้ เชิดชูครูสอนดี จังหวัดชัยภูมิ”เพื่อมอบประกาศเกียรติคุณและเข็มเชิดชูจรรยาบรรณครูสอนดี “ดาวประกายเพชร” ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมยกระดับการเรียนรู้โดยเฉพาะการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส พร้อมกับสร้างเครือข่ายครูสอนดีดาวรุ่งเพื่อขยายผลการทำงาน โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดครูสอนดีเต็มพื้นที่จังหวัดชัยภูมิเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในจังหวัด พร้อมนำเสนอผลงานของกลุ่มพลัง บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพของเด็กเยาวชน จากชุมชนต่างๆ โดยไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การสาธิตและแสดงผลงานนวัตกรรม “วัฒนธรรมนำไปสู่การอ่านอออกเขียนได้” จากเครือข่ายครูสอนดี และครูสอนดีดาวรุ่ง ในการพัฒนาและส่งเสริมการยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนกลุ่มด้อยโอกาสและผู้เรียนกลุ่มทั่วไปจาก 16 อำเภอ ด้วยการนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของทั้ง 16 อำเภอ มาต่อยอดพัฒนาเป็นชุดการเรียนการสอนและแบบฝึกทักษะ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน ให้สามารถอ่านออกเขียนคล่อง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดชัยภูมิสามารถอ่านออกเขียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายใน 3 ปี นายทองอินทร์ เพียภูเขียว ประธาน สรช. กล่าวว่า นวัตกรรมวัฒนธรรมนำไปสู่การอ่านอออกเขียนได้เป็นการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นเช่น การแห่กระธูป ของ อ.หนองบัวแดง การแห่นาคโหด ของ อ.ภูเขียวฯลฯ ซึ่งสามารถสร้างความสนใจให้กับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี และยังมีเรื่องของภาษาและคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งนวัตกรรมนี้ก็จะเข้าช่วยฝึกให้เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสได้รับการพัฒนาการอ่านได้และเขียนคล่องทั้งเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน “สรช.กำลังพัฒนาฐานข้อมูลเด็กด้อยโอกาสขึ้นในแต่ละท้องถิ่น โดยจะใช้ อสม. และผู้นำชุมชน เข้ามาช่วยกันเก็บข้อมูลว่ามีเด็กที่ตกหล่นในเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่ตรงไหน แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำเป็นฐานข้อมูลเด็กด้อยโอกาสของสภาส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนจังหวัดชัยภูมิ และจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายที่จะเข้าไปดำเนินงานแก้ปัญหาทีละจุด ซึ่งคิดว่าภายใน 3 ปี สรช.จะสามารถแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ให้หมดไปได้” ประธาน สรช.กล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ