ฟิทช์: สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 23, 2014 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและอาจเป็นปัจจัยที่ท้าทายฐานะทางการเงินของภาคธนาคารพาณิชย์ไทย ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าว ความไม่มั่นคงทางการเมืองนั้นได้พิจารณาและสะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงด้านเครดิตอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) เพื่อช่วยการบริหารจัดการสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงกันข้าม แต่ พรก. ดังกล่าวอาจไม่ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สภาวะแวดล้อมการดำเนินงานโดยรวม ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถรองรับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีตและผลกระทบจากมหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ได้ในระดับหนึ่ง ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารที่ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องพ้นจากตำแหน่ง การแตกแยกทางการเมืองส่งผลให้เกิดการประท้วงตามท้องถนนครั้งใหญ่ ในปี 2551 2552 และ 2553 อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของไทยยังคงสามารถรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวมาได้ค่อนข้างดี ซึ่งเห็นได้จากการเติบโตของ GDP ของประเทศไทยในระดับเฉลี่ยที่ 3.0% ระหว่างปี 2552 – 2556 ตามการประมาณการณ์ของฟิทช์ ซึ่งยังคงสูงกว่าค่ากลางของกลุ่มที่มีอันดับเครดิตในระดับ ‘BBB’ เล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ 2.7% ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีปัจจัยอื่นที่บ่งชี้ถึงการปรับตัวแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตของธนาคารขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามการชะลอตัวลงของภาคธุรกิจตั้งแต่การเริ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2556 หากยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต อาจส่งผลให้ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระดับหนี้สินในภาคครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2556 จาก 60% ณ สิ้นปี 2552 แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของภาคธนาคารมีความอ่อนไหวเพิ่มขึ้นต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวได้สะท้อนอยู่ในความเห็นของฟิทช์ต่อภาคธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับปีนี้ที่มีแนวโน้มเป็นลบ (เทียบกับแนวโน้มมีเสถียรภาพในปี 2556) แม้ว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีแนวโน้มที่จะเผชิญความเสี่ยงที่สูงกว่า ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการมีระดับหนี้สินในระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังคงมีความเสี่ยงในด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อธุรกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ฐานะทางการเงินและความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะได้รับผลกระทบบ้าง ในกรณีที่สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวแย่ลง แม้ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวดีขึ้นเป็น 12.4% ของสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มขึ้นจาก 11.3% ณ สิ้นปี 2552 แต่การเติบโตของกำไรที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากผลขาดทุนอาจลดลงหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง การประกาศใช้ พรก. ฉุกเฉินเป็นเวลา 60 วัน ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความรุนแรงทางการเมืองให้อยู่ในวงจำกัด ซึ่งจะมีผลครอบคลุมไปจนถึงก่อนและหลังวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนันสนุนเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่ความไม่แน่นอนในทางการเมืองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมาตราการดังกล่าวอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ ในขณะที่มาตราการดังกล่าวอาจจะช่วยจำกัดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ก็ไม่น่าจะให้ภาคธนาคารพาณิชย์ไทยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ