สพฉ.เตือนผู้ป่วยโรคปอดและหอบหืดไม่ควรอยู่ใกล้ควันธูป เพราะอาจทำให้อาการของโรคกำเริบ แนะถ้าจำเป็นให้จุดธูปในปริมาณที่น้อยและรีบดับไฟโดยเร็ว

ข่าวทั่วไป Thursday February 13, 2014 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ.เตือนผู้ป่วยโรคปอดและหอบหืดไม่ควรอยู่ใกล้ควันธูป เพราะอาจทำให้อาการของโรคกำเริบ แนะถ้าจำเป็นให้จุดธูปในปริมาณที่น้อยและรีบดับไฟโดยเร็ว นักวิชาการจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ระบุควันธูปเป็นอันตรายต่อร่างกายเสี่ยงโรคมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้นอกจากจะเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองเทศการแห่งความรักแล้วยังตรงกับวันมาฆะบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนอีกด้วย วันมาฆะบูชานั้นเป็นวันสำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านาน โดยพุทธศาสนิกชนจะมาร่วมทำบุญตักบาตรและจุดธูปเวียนเทียน ทั้งนี้นอกจากความสุขและความอิ่มใจการร่วมกันทำบุญตักบาตรแล้ว แต่ก็ยังมีภัยเงียบที่แฝงมากับการจุดธูปที่ประชาชนต้องระมัดระวังด้วย จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์โดยนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัย วัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิ หัวหน้าแผนกไอซียู โรงพยาลวิชัยยุทธระบุว่า ธูปเป็นเครื่องหอมที่ทำจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมก็จะพอกอยู่บนก้านไม้ ธูปมีหลายรูปหลายขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่มากๆ เผาไหม้หมดในเวลา 20 นาที ถึง 3 วัน 3 คืน ซึ่งในประเทศไทย ในการบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ บางคนต้องจุดธูปถึง 9 ดอก ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่ามีคนจุดธูปทั่วโลกปีหนึ่งๆ เป็นหมื่นถึงแสนตัน และทุกๆ 1 ตัน ของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325.1 กิโลกรัม และก๊าซมีเทน 7.2 กิโลกรัม หากปีปีหนึ่งทั้งโลก มีคนจุดธูปเป็นหมื่นถึงแสนตัน จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนออกมาเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งนี้การจุดธูป 1 ตันจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่ากับ 1 ใน3 ของน้ำหนักธูป การเผาไหม้ของแต่ละดอกนั้น จะปล่อยสารพิษ และฝุ่นละอองขนาดเล็กต่างๆมากมาย เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ตลอดจนสารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น ฟอร์มาลีไฮด์เบซีน และบิวทาไดอีน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในควันธูป ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในระบบเลือด มะเร็งปอด และมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้หากคนที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ อาจจะทำให้เกิดอาการกำเริบได้ งานวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ของนายแพทย์มนูญยังระบุอีกว่า จากการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของการได้รับควันธูปนั้นจะพบอย่างชัดเจนว่าในควันธูปจะมีสารก่อมะเร็งอย่างน้อย 3 ชนิด คือ เบนซีน1, 3 บิวทาไดอีน และ PAH โดยได้เปรียบเทียบกับคนที่ได้รับควันธูปจากการปฏิบัติงานภาย และคนที่ทำงานในหน่วยงานที่ไม่มีควันธูป พบว่าคนที่ต้องอยู่กับควันธูปเป็นระยะเวลานานมีความเสี่ยงต่อการได้รับมลพิษ และการเกิดโรคต่างๆ อาทิเช่น โรคมะเร็ง นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า ผู้ที่มีอาการของการเป็นโรคปอด หรือโรคหอบหืด หรือมีอาการเจ็บป่วยจากทางเดินหายใจงดการใช้ธูป หรือถ้าจะใช้ก็ควรลดปริมาณของธูปลงและควรจุดในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และเมื่อจุดแล้วควรรีบดับ โดยจุ่มน้ำหรือทรายโดยทันที เพื่อเป็นลดการสูดดมเอาควันธูปเข้าสู่ร่างกายทั้งนี้หากเราพบเห็นผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการกำเริบ เช่นหายใจติดขัดให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 พร้อมบอกรายละเอียดของโรคประจำตัวและอาการที่ผู้ป่วยเป็นอย่างชัดเจนกับเจ้าหน้าที่ และพาผู้ป่วยไปในที่โล่ง อากาศถ่ายเท พร้อมทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในลำดับต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ