4 หน่วยงานร่วมกำหนดมาตรการและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกทม.

ข่าวทั่วไป Thursday December 25, 1997 10:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--25 ธ.ค.--สำนักงานเขตกทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 24 ธ.ค. 40 ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายประมวล รุจนเสรี อธิบดีกรมการปกครอง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อธิบดีกรมตำรวจ นายรณรงค์ สุวรรณเปี่ยม รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมกำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดในเขตกรุงเทพมหานคร
อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า สืบเนื่องจากในพื้นที่กทม. มีปัญหาเรื่องยาบ้า เฮโรอีน ยาอี ยาเค และการเสพยาเสพติดชนิดต่าง ๆ กำลังระบาดอย่างรุนแรงในหมู่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร กรมการปกครอง กรมตำรวจ และ ป.ป.ส. ร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้นวันนี้ทั้ง 4 หน่วยงาน จึงได้หารือร่วมกัน ซึ่งสรุปผลได้ดังนี้ 1.การเพิ่มเนื้อหาในการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนให้เห็นถึงพิษภัยของยาเสพติดชนิดต่าง ๆ โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรมตำรวจ 2.ขอให้รัฐบาลออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่จะกำหนดให้งานป้องกัน ปราบปราม บำบัดการติดยาเสพติด และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และสามารถระดมกำลังจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือหรือดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง 3.เรื่องการป้องกันในส่วนของกทม. จะใช้ชุมชน ประมาณ 1,200 แห่ง เป็นฐานดำเนินการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน รวมทั้งทำความเข้าใจกับ โรงงานต่าง ๆ ตลอดจนโรงเรียน สถาบันการศึกษาทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนเสพยาเสพติด
ในเรื่องของการปราบปรามยาเสพติดนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยจะประสานงานกับศาลและอัยการ กำหนดมาตรการลงโทษสถานหนักแก่ผู้ค้ายาเสพติดและผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่สำคัญที่สุดจะใช้กฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการปราบปรามผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติด เช่น กฎหมายควบคุมอาคาร สาธารณสุข กฎหมายสถานบริการ ฯลฯ โดยกทม.และกรมตำรวจ จะประสานการใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามยาเสพติด
อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่ประชุมเน้นให้สำนักงานเขต อำเภอ สำนักอนามัยกทม. และสำนักพัฒนาชุมชนกทม. ประสานกับภาคเอกชน วัด ที่มีความพร้อม จัดสร้างสถานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดขึ้นตามวัดต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ทั้ง 4 หน่วยงานจะจับมือกันทำงานอย่างจริงจังให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การปราบปรามยาเสพติดในกรุงเทพมหานครนั้น กรมตำรวจเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการปราบปราม และหากมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจโดยตรงในการประสานงาน ผนึกกำลังด้านการปราบปรามยาเสพติด กทม. ก็จะตั้งศูนย์ประสานงาน โดยมีตำรวจเป็นหน่วยงานหลักในการปราบปรามยาเสพติด ส่วนกทม.เป็นหน่วยงานบำบัดรักษาและป้องกัน สำหรับหน่วยงานอื่น และ ป.ป.ส.ช่วยด้านการรณรงค์และประสานงานทั่วไป ในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ซึ่งมีอยู่ 1,200 แห่ง นั้น ขณะนี้กทม.มีอาสาสมัครป้องกันภัยยาเสพติดและจะเพิ่มอีกมากขึ้นอีก เพื่อเป็นแนวร่วมกับทางราชการต่อสู้ปัญหายาเสพติดให้หมดไป เช่น ชุมชนเขตคลองเตย ฯลฯ นอกจากนี้จะให้โรงเรียนสังกัดกทม. 429 แห่ง เป็นโรงเรียนนำร่องปลอดยาเสพติด และเป็นเจ้าภาพเชิญชวนให้โรงเรียนภาครัฐ และเอกชนทุกโรงเรียนร่วมมือกันทำงานในเรื่องดังกล่าวด้วย
ด้านอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวด้วยว่า ทางกรมตำรวจจะเริ่มบทบาทใหม่ด้วยการสร้างจิตสำนึกร่วมกันระหว่างคนในสังคมทุกหมู่ เช่น เยาวชน ประชาชน ฯลฯ ในการขจัดสิ่งไม่ดีในสังคมให้หมดไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ