BOI เชื่อมโยงอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ต่อเนื่องพาผู้ผลิตชิ้นส่วนเจรจาธุรกิจกลุ่มมัตสุชิตะ

ข่าวทั่วไป Thursday December 25, 1997 13:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--25 ธ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
หน่วย BUILD ของบีโอไอเดินหน้าเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากเปิดตัวโครงการผู้ซื้อพบผู้ขายไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เตรียมพาผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กว่า 10 รายเข้าเยี่ยมโรงงานของมัตสุชิตะอิเล็กทรอนิกส์ฯ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาธุรกิจซื้อขายชิ้นส่วนระหว่างกัน
นายสถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่าหน่วยพัฒนาการเชี่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD) เตรียมจัดโครงการผู้ซื้อพบผู้ขายครั้งที่ 2 หลังจากเปิดตัวโครงการและนำผู้ผลิตชิ้นส่วนไปเยี่ยมชมโรงงานของบริษัทฟูจิตลี (ประเทศไทย) จำกัดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ในครั้งนี้จะนำผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนกว่า 10 รายเข้าเยี่ยมชมโรงงานของบริษัท มัตสุชิตะอิเล็กทรอนิกส์คอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด และเพื่อเจรจาธุรกิจซื้อขายชิ้นส่วนในวันที่ 26 ธันวาคมศกนี้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ BUILD ดำเนินการต่อเนื่องในการนำผู้ผลิตชิ้นส่วนพบโรงงานผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเป็นการสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ
บริษัทมัตสุชิตะอิเล็กทรอนิกส์ฯ เป็นผู้ประกอบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่มีตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มมัตสุชิตะในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีสายการประกอบผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท ได้แก่ PRINTED WIRING BOARD (PWB), TUNER, REMOTE, SPEAKER, TRANSFORMERS, COIL, และ SWITCH มีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% และมีนโยบายจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และวัตถุดิบอื่นๆ ในประเทศมากขึ้น
แนวโน้มอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกเพิ่ม
สำหรับภาพรวมกิจการในหมวดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2540 จำนวน 113 โครงการ เงินลงทุน 34,085 ล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่ขยายการลงทุนหลายโครงการ อาทิ บริษัทซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) ลงทุน 2 โครงการ รวมมูลค่า 5,256 ล้านบาท เพื่อผลิต ASSY และ E-BLOCK, บริษัทเดลต้าไมรโครอีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงทุน 2,000 ล้านบาทผลิต THIN-FILM RESISTOR และ PT SENSOR
ทั้งนี้จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2540 พบว่า มูลค่าการส่งออกรวมของบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน 92 บริษัทจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.4% หรือประมาณ 4.6 แสนล้านบาท
ผลิตภัณฑ์หลักที่มีแนวโน้มมูลค่าส่งออกเพิ่ม เช่น วิทยุเทปติดรถยนต์ (177%), เครื่องวีดีโอ (63%), เครื่องซักผ้า (62%), HARD DISK DRIVE (34%), จอภาพคอมพิวเตอร์ (23%), FLOPPY DISK DRIVE (16%), แผงวงจรรวม (13%)
ภาพรวมของอุตสาหกรรมนี้หากเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกจะได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ตัวอย่างเช่น CANON HI-TECH มีโครงการจะขยายกำลังการผลิตเครื่องถ่ายเอกสารและ PRINTER ในไทยอีก 3 ปีข้างหน้าโดยผลิตส่งออก 100% ไปยังตลาดทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน CANNON เริ่มลดการผลิตในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นและหันมาเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศไทย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ