GR: ปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มกับการให้บริการบนอินเตอร์เน็ต

ข่าวทั่วไป Thursday January 6, 2005 12:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี จำกัด
paiboon@gilbertereed.com
ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์เพื่อนๆในวงการธุรกิจดอทคอมหลายคนและได้แลกเปลี่ยนสนทนาปัญหาต่างๆมากมาย ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือเรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่มกับการประกอบกิจการบนอินเตอร์เน็ตว่า ควรจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรโดยเฉพาะกรณีที่เว็บไซท์ที่ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศควรจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 7 หรือร้อย 0 กรมสรรพากรมีแนวทางในการวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าเสียภาษีมูลค่าเพิ่มผิดพลาดก็อาจเจอเบี้ยปรับและเงินเพิ่มย้อนหลังเหมือนเพื่อนผมได้ วันนี้เราจะมาคุยถึงเรื่องดังกล่าวกันครับ
เพื่อประกอบความเข้าใจผมขอยกตัวอย่างสมมติดังต่อไปนี้เพื่ออธิบายถึงปัญหาข้างต้นดังนี้ครับ
สมมติว่า บริษัท ก เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้บริการโฆษณาผ่านเว็บไซท์ yahoothai.com โดยเว็บไซท์ yahoothai.com ให้บริการโฆษณาเชื่อมต่อระหว่างเว็บไซท์ของบริษัท ก และเว็บไซท์ของลูกค้าซึ่งอยู่ในต่างประเทศทั้งหมด โดยเว็บไซท์ yahoothai.com เป็นเว็บที่บริษัท ก ออกแบบและสร้างขึ้นในประเทศไทยทั้งหมด หลังจากนั้น บริษัท ก จะนำเว็บไซท์ yahoothai.com ไปฝากหรือโฮสท์ (host)ไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของบริษัท เอ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการอัพโหลด (Up Load) ข้อมูล หรือการโอนถ่ายข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยไปไว้ยังเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งบริษัท ก ทำสัญญาเช่าไว้ กับบริษัท เอ
การติดต่อลงโฆษณาในเว็บไซท์ yahoothai.com ของบริษัท ก ลูกค้าในต่างประเทศของบริษัท ก จะติดต่อโดยส่งอีเมลล์มายังบริษัท ก เพื่อขอลงโฆษณาพร้อมรายละเอียดของแผ่นป้ายโฆษณา (Banner) หรือ รายละเอียดของที่อยู่ของเว็บไซท์ (Web Address) ของลูกค้าซึ่งอยู่ต่างประเทศ หลังจากนั้น บริษัท ก จะทำการเชื่อมต่อระหว่างตำแหน่งของเว็บไซท์ของบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศกับที่อยู่ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของเว็บไซท์ของลูกค้าซึ่งเป็นผู้ลงโฆษณาโดยใช้เทคโนโลยี Hyperlink
ในส่วนของกลุ่มลูกค้าของบริษัท ก นั้น เป็นลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศทั้งหมด โดยจัดทำเว็บไซท์ yahoothai.com เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดโดยให้บริการโฆษณาผ่านเว็บไซท์ yahoothai.com แก่ลูกค้าเฉพาะชาวต่างประเทศและรายได้ของบริษัท ก เกิดจากการรับโฆษณาโดยใช้พื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของบริษัท เอ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ต้องการดูข้อมูลของลูกค้าของบริษัท ก ก็จะเรียกดูข้อมูลผ่านเว็บไซท์ yahoothai.com ในประเทศสหรัฐอเมริกาและคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้บริการทำการเชื่อมต่อ (host) และเรียกดูข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรง โดยไม่ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท ก ในประเทศไทยแต่อย่างใด
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินนั้น ลูกค้าสามารถชำระเงินให้แก่บริษัท ก ได้ 3 วิธี คือ
ก) ชำระเป็นเช็คโดยสั่งจ่ายผ่านธนาคารในประเทศไทย
ข) ชำระค่าบริการโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในประเทศไทย และ
ค) ชำระเป็นบัตรเครดิต
จากปัญหาดังกล่าวมีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มคือ การให้บริการของบริษัท ก นั้นจะถือว่าเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศทั้งหมดหรือไม่ ตามมาตรา 80/1 (2) ของประมวลรัษฎากรและประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 105 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2543 ข้อ 2. โดยถือได้ว่าการให้บริการของบริษัทกระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศและได้ส่งผลของการให้บริการ (การโฆษณา) นั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งเสียภาษีมูลค่าในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (2) ของประมวลรัษฎากร หรือบริษัท ก ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการโดยทั่วไปในอัตราร้อยละ 7
เพื่อประกอบการพิจารณา ผมขอหยิบยก คำวินิจฉัยของกรมสรรพากรที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คือ คำวินิจฉัยที่ กค 0706/ พ /6172ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 บริษัท ส จำกัด หารือข้อเท็จจริงว่า บริษัท ส (“ บริษัทฯ”) ประกอบกิจการสื่ออินเตอร์เน็ทโดยเปิดเว็บไซท์ yindii.com เพื่อแนะนำข้อมูลต่างๆโดยเน้นการให้ข้อมูลด้านการศึกษาเป็นหลัก พร้อมทั้งแนะนำเว็บไซท์อื่นในต่างประเทศ หากผู้ใช้บริการต้องการข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติมโดยเปิดข้อมูลจากเว็บไซท์ต่างประเทศ บริษัทฯเจ้าของเว็บไซท์ต่างประเทศดังกล่าวจะชำระค่าตอบแทนให้กับบริษัทฯตามจำนวนผู้ใช้บริการที่บริษัทฯแนะนำโดยชำระค่าบริการเป็นเช็ค บริษัทฯหารือว่าลักษณะการประกอบกิจการดังกล่าวเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 0 หรือไม่
กรมสรรพากร วินิจฉัยว่า กรณีการโฆษณาเว็บไซท์ต่างประเทศบนสื่ออินเตอร์เน็ตของบริษัทฯ เข้าเป็นลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/1(10) และ มาตรา 77/2 วรรค 2 แห่งประมวลรัษฎากรและการให้บริการดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตาม มาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม( ฉบับที่ 105) เรื่องการกำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากแม้ว่าจะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้ให้บริการในต่างประเทศแต่มิได้ส่งผลของการให้บริการไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด เพราะลูกค้าในประเทศไทยอาจใช้บริการเปิดข้อมูลเว็บไซท์ของต่างประเทศเนื่องจากการโฆษณานั้นได้ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยของกรมสรรพกรดังกล่าวกับกรณีเว็บไซท์ yahoothai.com ตามที่สมมตินั้น จะเห็นว่า มีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันเนื่องจากกรณีเว็บไซท์ yahoothai.com เว็บไซท์ของบริษัท ก นั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดและไม่มีลูกค้าคนไทยเลยขณะที่ กรณีเว็บไซท์ yindii.com นั้นตามคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรข้อเท็จจริงไม่ชัดเจนว่า ให้บริการแก่คนไทยด้วยหรือไม่เพราะถ้ามีการให้บริการในราชอาณาจักรด้วยก็คงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 7 อย่างแน่นอน นอกจากนี้ กิจการให้บริการสื่อโฆษณาบนเว็บไซท์ yahoothai.com ของบริษัท ก เป็นการให้บริการโดยการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์เว็บไซท์ในประเทศไทยและมีการอัพโหลดข้อมูลดังกล่าวไปไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ซึ่งเป็นการให้บริการโดยผลสำเร็จของงานคือการโฆษณาทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นที่เครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เข้าชมเว็บไซท์ yahoothai.com ของบริษัท ก ทั้งที่เป็นชาวต่างประเทศทั้งหมดจะเรียกดูข้อมูลของลูกค้าของบริษัทผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรง จึงไม่มีการกระทำหรือให้บริการใด ๆ ของบริษัทเกิดขึ้นในราชอาณาจักร บริษัท ก จึงควรต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1 (2) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 105
ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับการปรับใช้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มคือ จากคำวินิจฉัยดังกล่าวมีความเป็นไปได้กรมสรรพากรอาจตีความว่าหากเป็นการให้บริการเว็บไซท์บนอินเตอร์เน็ทใดก็ตามที่ลูกค้าในประเทศไทยสามารถเปิดใช้บริการจากเว็บไซท์ได้ เจ้าของเว็บไซท์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ทั้งหมด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้เกิดปัญหาการปรับใช้กฎหมายอย่างมาก เพราะเท่ากับว่าเว็บไซท์ทั่วโลกหลายล้านเว็บไซท์ที่ให้บริการทั่วโลกที่อาจไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้ให้บริการกับคนไทย หากคนไทยเพียงเปิดดูได้ผ่านอินเตอร์เน็ทก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง
แนวทางที่น่าจะเป็นและสอดคล้องกับแนวกฎหมายภาษีในต่างประเทศ-ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรปคือ การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการบนอินเตอร์เน็ทในอัตรา ร้อยละ 7 หรือ 0 นั้นน่าจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า “ผลของการให้บริการดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่หรือเว็บไซท์นั้นมีเจตนาให้บริการลูกค้าที่เป็นคนไทยหรือไม่” หากมีก็คงต้องถือว่าเป็นการให้บริการในประเทศไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 7 ครับ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพียงเป็นข้อมูลสำหรับท่านผู้อ่านที่อยู่ในธุรกิจดอทคอมได้ทราบไว้เท่านั้นครับ เพราะหากเสียภาษีผิดพลาดอาจเจอเบี้ยปรับเงินเพิ่มมากกว่ารายได้ก็จะทำให้ได้ไม่คุ้มเสียครับ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ