สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 10-14 มี.ค. 57 และแนวโน้ม ในสัปดาห์ที่ 17-21 มี.ค. 57

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 18, 2014 10:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) ลดลง 1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 108.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 3.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 99.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 104.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 1.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 120.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 121.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - IEA รายงานกลุ่มประเทศ OPEC ผลิตน้ำมันดิบ เดือน ก.พ. 57 เพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 30.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 5 เดือน จากอิรักผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น 530,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 3.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงที่สุดในรอบ 35 ปี - Reuters รายงาน Implied Oil Demand (อุปสงค์น้ำมันที่คิดจากปริมาณน้ำมันดิบที่เข้าสู่กระบวนการกลั่นและปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป โดยไม่ได้หักลบปริมาณการเก็บสำรอง) ของจีนลดลง 3.1% YoY มาอยู่ที่ 9.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน - EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มี.ค. 57 เพิ่มขึ้น 6.18 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 370 ล้านบาร์เรล เพราะโรงกลั่นน้ำมันเริ่มปิดซ่อมบำรุงส่งผลให้อัตราการกลั่นปรับลดลง 1.4% จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 86% - กรมศุลกากรของจีนรายงานยอดส่งออกของจีนในเดือน ก.พ. 57 ลดลง 18.1% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 52 และเป็นอัตราการลดลงที่มากที่สุดตั้งแต่วิกฤตทางการเงินในช่วง 5 ปีก่อน ยอดส่งออกที่ลดลงอาจทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน (GDP) ในปี 57 ไม่เติบโตตามเป้าที่ 7.5% จากปีก่อนหน้า ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ไครเมีย เขตปกครองตนเองในยูเครน ได้เดินหน้าลงประชามติขอแยกตัวออกจากยูเครน ในวันที่ 16 มี.ค. 57 ท่ามกลางปัญหาต่างๆที่เกี่ยวโยงกับรัสเซียและเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเพราะเกรงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดความตึงเครียดทางทหารระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มขึ้น - รัฐสภาลิเบียมีมติถอดถอนนาย Ali Zeidan ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้นาย Abdallah al-Thinni รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี พร้อมกักกันไม่ให้นาย Ali Zeidan ออกนอกประเทศเพื่อรับการไต่สวนต่อไป ชนวนเหตุสำคัญในการถอดถอนมาจากความอ่อนแอของรัฐบาลกลางจนไม่สามารถควบคุมความวุ่นวายในประเทศได้ - อินเดียต้องลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเกือบ 2 ใน 3 จากช่วงไตรมาสที่ 1/57 ที่ระดับ 322,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อคงระดับปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านให้เทียบเท่ากับปริมาณนำเข้าในช่วงปลายปี 56 ตามข้อตกลงการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยจะต้องนำเข้า ในช่วง เม.ย.-ก.ค.57 ที่ระดับ 110,000 บาร์เรลต่อวัน - EIA ของสหรัฐฯ ปรับลดประมาณการยอดผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 57 ลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 8.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นส่งผลกระทบต่อการขุดเจาะ แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมัน Brent และ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องหลังการลงประชามติของประชากร 1.5 ล้านคนในเขตปกครองอิสระไครเมียในวันอาทิตย์ที่ 16 มี.ค. 57 ปรากฏว่าประชากรกว่า 95.5% ต้องการแยกตัวจาก "ยูเครน" ไปขึ้นกับ "รัสเซีย" โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนครั้งนี้ประมาณ 83% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมดนักวิเคราะห์ระบุว่าผลของประชามติในครั้งนี้จะทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดรุนแรงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลใหม่ของยูเครนที่สนับชาติตะวันตกไม่ยอมรับผลประชามติเพราะมองว่าขัดต่อกฎหมายโดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่าประชาคมโลกจะไม่ยอมรับการลงประชามติในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของยูเครน อีกทั้งยังเป็นการจัดขึ้นท่ามกลางแรงบีบของกำลังทหารที่มาจากรัสเซียอีก ขณะที่ทางฝ่ายรัสเซียให้ความเห็นว่าการลงประชามติดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว ด้านปัจจัยพื้นฐาน IEA ได้ปรับเพิ่มอัตราการเติบโตอุปสงค์น้ำมัน 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนมาอยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า จากเหตุเศรษฐกิจโลกปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม โดยสรุปเหตุการณ์ในไครเมียส่งผลให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ ข้าวสาลี กาแฟ น้ำมันตลาด ข้าวโพด รวมถึงน้ำมัน ได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกถูกเทขายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในสัปดาห์นี้ประเด็นความคืบหน้าเหตุการณ์ในแหลมไครเมียและแถลงการณ์ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 18-19 มี.ค. 57 จะเป็นเหตุการณ์หลักที่ส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับอยู่ที่ 107 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 110.50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวรับอยู่ที่ 96.60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และดูไบมีแนวรับอยู่ที่ 103.26 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และมีแนวต้านอยู่ที่ 106.76 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง อีกทั้งอินโดนีเซียผู้นำเข้ารายใหญ่มีแผนลดการนำเข้าน้ำมันเบนซิน เดือน เม.ย. 57 ลง 15,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 300,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามมีความต้องการจากเวียดนามเพิ่มขึ้นสำหรับส่งมอบช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. 57 เนื่องจากโรงกลั่นในประเทศปิดซ่อมบำรุง รวมทั้ง International Enterprise of Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มี.ค. 57 ปรับตัวลดลง 193,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 13.08 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 118.89-122.39 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง เนื่องจากมีอุปทานในตลาดเพียงพอ และโอกาสในการส่งน้ำมันดีเซลไปขายในยุโรปลดลง เนื่องจากยุโรปมีอุปทานเพียงพอแล้ว ขณะที่โรงกลั่นในญี่ปุ่นหันมาผลิตน้ำมันดีเซลแทนน้ำมันก๊าดเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการลดลงภายหลังสิ้นสุดฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ที่สิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มี.ค. 57 ปรับตัวลดลง 674,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 10.03 ล้านบาร์เรล เป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 สัปดาห์ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 119.69-123.19 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ