สธ.ตั้งศูนย์เฉพาะกิจ เยียวยาชาวใต้ ระดมงบ 60 ล้าน กู้สุขภาพ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 1, 1997 19:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--1 ต.ค.--สธ.
กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษไฟไหม้ป่าที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยสำรองงบ 60 ล้านบาท เป็นค่ารักษาพยาบาล พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกแห่งดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนกับผู้สูงอายุ อีกทั้งส่งทีมนักจิตวิทยา 4 ทีม ลงหาข้อมูลผลกระทบด้านจิตใจ ซึ่งขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่ามากน้อยเท่าใด แนะประชาชนรองน้ำฝนไว้ใช้หลังฝนตกแล้ว 1 ชั่วโมง โดยล่าสุดนี้ปริมาณฝุ่นใน 4 จังหวัดอันตรายลดลงแล้ว
วันนี้ (1 ต.ค.40) เวลา 13.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะฯ แถลงข่าวเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหามลพิษทางอากาศจากไฟไหม้ป่า ประเทศอินโดนีเซียว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่อยู่ในภาคใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษไฟไหม้ป่า ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นแกนกลางในการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากมลพิษทางอากาศเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากมีผลต่อสุขภาพโดยตรง ศูนย์ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายด้านต่าง ๆ ในการให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุม เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปในทิศทางเดียวกันและทันเหตุการณ์
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจนี้ ตั้งอยู่ที่สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม อาคาร 4 ชั้น 5 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ (02) 5904356-7, 5904346 และ 5904348 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการฯ จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสัมพันธ์ กรมอุตุนิยมวิทยา สภากาชาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คำสั่งดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะลงนามในบ่ายวันนี้ ซึ่งกรรมการชุดนี้จะมีการประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และการให้ความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายสู่ภาวะปกติ
จากการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในรอบ 24 ชั่วโมง ล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้ โดยกรมอนามัยพบว่าทั้ง 12 จังหวัดภาคใต้ มีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ลดลงต่ำกว่ามาตรฐานรวมทั้งใน 4 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีทีท่าว่าสูงขึ้น ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสตูล ขณะนี้ท้องฟ้าเปิดจากการที่ฝนตกและคาดว่าแนวโน้มสถานการณ์ของภาคใต้จะดีขึ้น จากผลการเปลี่ยนแปลงของลมมรสุมซึ่งเปลี่ยนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำให้หมอกควันและฝุ่นละอองจากอินโดนีเซีย ไม่ถูกเบียดเข้าสู่ประเทศไทย
สำหรับข้อมูลในการวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝนที่ตกลงมา ล่าสุดเช้าวันนี้พบว่า น้ำฝนมีค่าเป็นกรดอ่อน ๆ โดยมีค่าความเป็นกรด 4.2 ทั้งนี้หากประชาชนจะนำน้ำฝนมาใช้ ขอให้รองน้ำฝนได้หลังจากที่ฝนตกไปแล้ว 1 ชั่วโมง ซึ่งจะปลอดภัยจากกรด
ทางด้านการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ได้มีการจัดงบประมาณไว้ 60 ล้านบาท โดย 50 ล้านบาท จะใช้สำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยในช่วงนี้ คาดว่ามลพิษทางอากาศครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ได้ประมาณร้อยละ 30 หรือประมาณ 2 ล้านคน ส่วนงบที่เหลืออีก 10 ล้านบาท จะใช้เป็นงบปฎิบัติการเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนและผู้สูงอายุส่วนทางด้านสถานพยาบาลได้สั่งการให้โรงพยาบาลทั้งหมด 142 แห่ง สำรองออกซิเจนรวมทั้งยารักษาระบบทางเดินหายใจ ซึ่งขณะนี้ทุกแห่งมีความพร้อมเต็มที่
ทางด้านการดูแลสุขภาพจิต ซึ่งคาดว่าเหตุการณ์มลพิษทางอากาศครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อประชาชนด้วย ยังไม่มีข้อมูลว่าจะมีมากน้อยเท่าใด เพราะผลกระทบแผ่ไปในวงกว้าง อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่พบขณะนี้ พบว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม มีความวิตกกังวลและเกิดอาการเครียด แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดส่งทีมนักจิตวิทยาจากส่วนกลาง 1 ทีม ลงไปพื้นที่สมทบกับทีมของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จำนวน 4 ทีมในวันนี้ โดยจะไปสำรวจข้อมูลพื้นฐานที่จังหวัดสงขลา ยะลา สตูล และนราธิวาส ซึ่งจะทราบข้อมูลในเร็ว ๆ นี้ เพื่อนำมาประกอบการให้ความช่วยเหลือต่อไป ทางด้านการจัดการรองรับได้เปิดศูนย์ฮอตไลน์ที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ เพื่อให้คำปรึกษาประชาชน ศูนย์ดังกล่าวจะให้บริการในเวลาราชการทางโทรศัพท์หมายเลข (077) 311-544 และ 240-992 นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังได้แจกคู่มือการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ไปให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลจนเกินไป ขอให้ตั้งใจติดตามข้อมูลจากทางราชการในการการปฎิบัติตัวป้องกันมลพิษอย่างใกล้ชิด ให้พยายามใช้เครื่องป้องกันฝุ่นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่และหายใจตามปกติ หากรู้สึกว่าตนเองกังวลหรือเครียดจนนอนไม่หลับ สามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ที่สุดทุกแห่ง--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ