ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร และแนวโน้ม “บ. บีเอสแอล ลีสซิ่ง” ที่ “BBB/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 1, 2014 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ การบริหารความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ และคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดี นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนผลประกอบการล่าสุดที่ดีขึ้นของบริษัท และการสนับสนุนด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทยังมีเครือข่ายการให้บริการลูกค้าบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ ที่ไม่กว้างขวางพอและการสนับสนุนทางการเงินที่จำกัดจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งการสนับสนุนที่จำกัดอาจกระทบต่อความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทและเป็นอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ พร้อมทั้งยังคงเพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงินกู้ไปด้วย แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงความคาดหมายที่คณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและรักษาผลการดำเนินงานในระดับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ด้วย บริษัทบีเอสแอล ลีสซิ่ง ก่อตั้งในปี 2528 โดยการร่วมทุนในสัดส่วน 50:50 ระหว่างธนาคารกรุงเทพและบริษัทในกลุ่มกับ Sumitomo Mitsui Banking Corporation ประเทศญี่ปุ่น (SMBC) เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการทางการเงินสำหรับจัดซื้อเครื่องจักรและยานพาหนะในอุตสาหกรรมภายใต้สัญญาลีสซิ่งและเช่าซื้อ ต่อมาในปี 2547 บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจแฟคตอริ่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในปัจจุบันคือกลุ่มธนาคารกรุงเทพซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 35.88% SMBC ถือ 40% และ JA Mitsui Lease ถือ 10% ทั้งธนาคารกรุงเทพและ SMBC ให้การสนับสนุนบริษัททั้งในรูปการให้เงินกู้และการแนะนำลูกค้าให้บางส่วน ในปี 2556 บริษัทได้ลงนามในสัญญาการทำธุรกิจร่วมกันกับ JA Mitsui Lease โดยการแนะนำลูกค้าให้แก่กัน รวมถึงการให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาในการต่อรองกับลูกค้า ซึ่งผลสำเร็จของความร่วมมือดังกล่าวในอันที่จะผลักดันให้สถานะและผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นคงต้องใช้เวลา ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริการสินเชื่อและลีสซิ่งอุปกรณ์และเครื่องจักรของบริษัทอยู่ในอันดับที่ 6 จากจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่ 10 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งในปี 2555 ทั้งนี้ สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 5,255 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 6,366 ล้านบาทในปี 2555 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 6,867 ล้านบาทในปี 2556 ธุรกิจของบริษัทกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยผ่านการให้บริการของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว ลูกค้าของบริษัทจึงจำกัดอยู่แต่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ขาดความหลากหลายในเชิงพื้นที่เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินรายใหญ่อื่น ๆ รายได้สุทธิของบริษัท (ปรับจากรายได้สุทธิของธุรกิจให้เช่าดำเนินงาน) อยู่ที่ 460 ล้านบาทในปี 2555 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 542 ล้านบาทในปี 2556 เป็นผลจากพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 201 ล้านบาทในปี 2556 เพิ่มขึ้นถึง 58.27% จากปีก่อน เป็นผลทำให้บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยในระดับสูงถึง 16.05% และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย 2.71% ในปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 11.60% และ 2.09% ตามลำดับ ผลประกอบการที่ดีขึ้นของบริษัทเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปัจจุบันจะเป็นความท้าทายสำหรับบริษัทในการที่จะรักษาอัตรากำไรให้คงอยู่ในระดับเดิมหรือเพิ่มขึ้นได้ บริษัทมีการบริหารมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่าที่มีประสิทธิภาพจนสามารถสร้างรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ให้เช่าดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ในภาวะที่ราคารถใช้แล้วลดลงจากผลกระทบของนโยบายรถคันแรก บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าได้ โดยอยู่ที่ 29 ล้านบาทในปี 2554 24 ล้านบาทในปี 2555 และ 19 ล้านบาทในปี 2556 บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี โดยมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมในระดับ 1.76% ในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.83% ในปี 2555 และในปี 2556 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.71% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตัดหนี้สูญจำนวนมากภายหลังจากกระบวนการฟ้องร้องในชั้นศาลสิ้นสุดลง ทำให้บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทริสเรทติ้งจะจับตาดูคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากคุณภาพสินทรัพย์เสื่อมลงก็จะมีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทได้ ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนผันให้ธนาคารกรุงเทพยังสามารถคงสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทที่ระดับ 35.88% ต่อไปอีก ซึ่งทำให้ทั้งธนาคารกรุงเทพและบริษัทยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จำกัดการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องได้แก่บริษัทที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งสินเชื่อที่จะให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องนั้นจะต้องไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ หรือไม่เกิน 25% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัทที่เป็นลูกหนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ผลจากกฎระเบียบดังกล่าวทำให้ความยืดหยุ่นในการหาแหล่งเงินทุนของบริษัทยังคงมีข้อจำกัดเนื่องจากในอดีตบริษัทพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคารกรุงเทพเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา บริษัทได้กระจายแหล่งกู้ยืมไปยังสถาบันการเงินอื่นมากขึ้นรวมถึงการออกตราสารหนี้ในตลาดทุน บริษัทเริ่มมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินในปี 2553 ออกหุ้นกู้จำนวน 500 ล้านบาทในปี 2554 และออกหุ้นกู้ Shogun Bonds ครั้งที่ 1 จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐออกขายในประเทศญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม 2555 นอกจากนี้ ยังได้ออกหุ้นกู้ Shogun Bonds ครั้งที่ 2 ในจำนวนเงินเท่าเดิมออกขายในประเทศญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคม 2556 ด้วย ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้ 11.79% จากธนาคารกรุงเทพ และ 10.77% จาก SMBC ของจำนวนหนี้สินรวม 6,827 ล้านบาท บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่องในระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ บริษัทยังมีกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากการมีเงินผ่อนชำระรายเดือนจากลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทยังเก็บวงเงินสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพเอาไว้เพื่อใช้เป็นเงินทุนแหล่งสุดท้ายในกรณีที่มีความต้องการด้านสภาพคล่องมากขึ้นด้วย บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด (BSL) อันดับเครดิตองค์กร: BBB แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ