การเติบโตของหนี้สินภาคครัวเรือนในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของภาคธนาคาร

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 3, 2014 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่าการเติบโตเพิ่มขึ้นของหนี้สินภาคครัวเรือนในประเทศไทยอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ระดับหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ (ซึ่งฟิทช์คาดการณ์อัตราการเติบโตที่ 2.5% ในปี 2557) ได้สะท้อนอยู่ในความเห็นของฟิทช์ที่มีแนวโน้มเป็นลบต่อภาคธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะการเงินที่น่าจะสามารถเผชิญกับความท้าทายจากสภาวะแวดล้อมการดำเนินงานที่ยากลำบากขึ้นได้ ทั้งนี้หากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงนั้นไม่ยาวนานเกินไปและรุนแรงเกินกว่าคาดการณ์ ระดับหนี้สินภาคครัวเรือนในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 82.3% ของ GDP ณ สิ้นปี 2556 จาก 77.3% ณ สิ้นปี 2555 ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ทั้งนี้อัตราการเติบโตของระดับหนี้ภาคครัวเรือนได้ชะลอตัวลง โดยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 11.4% ในปี 2556 ฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตจะชะลอตัวลงอีกในปี 2557 เนื่องจากโครงการคืนภาษีรถคันแรกได้สิ้นสุดลงไปแล้ว อีกทั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงและธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ โครงการรถยนต์คันแรกนั้นได้สิ้นสุดลงไปเมื่อสิ้นปี 2555 แต่ยังมีการการส่งมอบรถยนต์และการปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องดำเนินต่อเนื่องในปี 2556 คุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (หรือธนาคารรัฐ) น่าจะมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงมากกว่าธนาคารพาณิชย์ไทย เนื่องจากธนาคารรัฐได้มีการให้กู้ยืมเงินแก่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในบทบาทของธนาคารรัฐในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางเงินได้มากขึ้น ระดับหนี้สินภาคครัวเรือนในส่วนที่ให้กู้โดยธนาคารรัฐมีสัดส่วนที่ 29.5% ของหนี้สินภาคครัวเรือนทั้งหมด ณ สิ้นปี 2556 อย่างไรก็ตามการปรับตัวอ่อนแอลงของสถานะทางด้านเครดิตไม่น่าจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออันดับเครดิตของธนาคารรัฐ ซึ่งเป็นอันดับเครดิตที่อ้างอิงมาจากอันดับเครดิตของรัฐบาล ฟิทช์เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงของสินเชื่อภาคครัวเรือนได้ เนื่องจากไม่ได้มีสัดส่วนสินเชื่อภาคครัวเรือนที่สูงจนเกินไป โดยธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินเชื่อภาคครัวเรือนอยู่ในระดับ 42.5% ของสินเชื่อภาคครัวเรือนในระบบทั้งหมด อีกทั้งพอร์ตสินเชื่อโดยรวมก็มีการกระจายตัวในระดับค่อนข้างดีโดยมีสัดส่วนสินเชื่อบุคคลที่ 30% ของสินเชื่อรวม ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทยได้มีการเพิ่มระดับเงินกองทุนและสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายมากขึ้น อย่างไรก็ตามได้เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวแย่ลงของคุณภาพสินทรัพย์ โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อบุคคลได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.2% ณ สิ้นปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 1.9% เมื่อปีก่อนหน้า ในขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของสินเชื่อบุคคลก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 70 bps จากสิ้นปีก่อนมาอยู่ที่ 3.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน การเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินเชื่ออาจส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากมีการตึงตัวมากขึ้น จากปัจจุบันซึ่งอยู่ในระดับสูงอยู่แล้วที่ 97% สถาบันการเงินที่ไม่ได้เป็นธนาคารซึ่งมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่าธนาคาร น่าจะมีความอ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจเพิ่มมากขิ้น โดยสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารมีสินเชื่อภาคครัวเรือนอยู่ในระดับ 28% ของสินเชื่อภาคครัวเรือนทั้งหมดในปี 2556 ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและการเงินอาจปรับตัวสูงขึ้นหากอัตราการเติบโตของระดับหนี้สินภาคครัวเรือนยังไม่ชะลอตัวลง ความเสี่ยงดังกล่าวอาจเป็นต้นตอของปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงมากกว่าคาดการณ์จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สงบ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อสูงปรับตัวเพิ่มขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้รัฐบาลมีความเสี่ยงในด้านภาระผูกพันเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนแก่ภาคธนาคาร หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้สินของภาคครัวเรือนปรับตัวลดลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ