ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. จัดประชุมวิชาการประจำปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 20, 2014 09:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง ศูนย์ วิจัย ธ.ก.ส. จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2557 “วิจัยสร้างนวัตกรรม ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง” เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านงานวิจัย นำเสนองานวิจัยและการพัฒนา ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในภาคการเกษตร พร้อมเผยผลสำรวจแหล่งที่มาของการใช้จ่ายในการผลิตและในครัวเรือนของชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้น 15-16 พ.ค. นี้ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นประธานในการเปิดงานประชุมวิชาการ ของ ธ.ก.ส.ประจำปี 2557 ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมการเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “วิจัยสร้างนวัตกรรม ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ การมอบรางวัลเมธีวิจัย ธ.ก.ส. ให้แก่นายประยงค์ รณรงค์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ต่อภาคการเกษตรและสังคมไทย รวมทั้งมอบทุนสนับสนุนการวิจัยและทุนบ่มเพาะเพื่อพัฒนาธุรกิจ และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ ธ.ก.ส. ตลอดจนมีการนำเสนอผลงานวิจัยของเครือข่ายนักวิจัย ธ.ก.ส. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้จัดประชุมวิชาการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน มีการพัฒนางานวิจัยของธนาคารและเผยแพร่ผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในภาคการเกษตร ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำเนินงานรวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรลูกค้า และชุมชน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกร ในหัวข้อ “แหล่งที่มาของการใช้จ่ายในการผลิตและในครัวเรือนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว” จากกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า แหล่งที่มาของการใช้จ่ายในการผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ร้อยละ 65.7 มาจากบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส. รองลงมาคือ การกู้เงินร้อยละ 59.1 จากเงินฝากร้อยละ 28.5 จากรายได้และอาชีพเสริมร้อยละ 16.1 และแหล่งอื่นๆ เช่น ยืมเงินจากญาติพี่น้อง เพื่อนและคนในชุมชน โดยไม่เสียดอกเบี้ย การเชื่อปัจจัยการผลิตจากร้านค้าในท้องถิ่น และการนำทรัพย์สินมีค่าไปขายหรือจำนำร้อยละ 12.4 ในส่วนของแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนของเกษตรกรในช่วงรอเงินรับจำนำข้าวพบว่า มาจากอาชีพเสริมมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 30.7 รองลงมาคือ การกู้เงินร้อยละ 28.5 มาจากเงินฝากร้อยละ 21.9 จากบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส.ร้อยละ 8.8 และแหล่งอื่นๆร้อยละ 5.8 ทั้งนี้ความช่วยเหลือที่เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลทำมากที่สุด คือ การเร่งจัดหาเงินมาจ่ายในโครงการรับจำนำข้าว ร้อยละ 30.7 รองลงมาคือ การยกระดับราคาและรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรร้อยละ 8.8 และสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตร้อยละ 5.8 ส่วนความช่วยเหลือที่ต้องการจาก ธ.ก.ส.มากที่สุดคือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ในมาตรการช่วยเหลือของ ธ.ก.ส. ร้อยละ 31.4 รองลงมาคือ ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกร้อยละ 16.3 และการขยายวงเงินสำหรับการกู้รอบการผลิตใหม่ร้อยละ 15.3 นายลักษณ์กล่าวอีกว่า ผลสำรวจและข้อเสนอแนะของศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ดังกล่าว เป็นประโยชน์สำหรับธนาคาร ในการกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจะได้นำไปพิจารณาเพิ่มมาตรการช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป ส่วนผลงานวิจัยอื่นๆในงานประชุมวิชาการ ประจำปี 2557 ยังมีเนื้อหาสาระที่สามารถนำไปกำหนดแนวทางพัฒนาคุณภาพสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ธ.ก.ส. ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารอีกหลายเรื่อง เช่น รูปแบบการจัดตั้งบริษัทชุมชนผ่านกรณีศึกษาหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยของ ธ.ก.ส. รูปแบบการประกันภัยพืชผล ที่เหมาะสมของประเทศไทย และสถาบันการเงินในภาคชนบท เป็นต้น ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้จะเป็นกรอบในการพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์สู่เกษตรกรลูกค้า และชุมชนต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ