BOT: ธปท.ชี้แจงเรื่องโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออก GSM-102 ของสหรัฐฯ

ข่าวทั่วไป Thursday March 19, 1998 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--19 มี.ค.--ธปท.
ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา และ สถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ว่า กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture) ได้จัดโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Export Credit Guarantee Program GSM-102) วงเงินรวม 300 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกาผ่านทางสถาบันการเงินไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้นำเข้าวัตถุดิบด้านเกษตร เพื่อทำการผลิตต่อ และส่งออก เช่น ใยฝ้าย เส้นด้ายฝ้าย ผ้าฝ้าย ฯลฯ โดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาจะค้ำประกัน Letter of Credit ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นผู้เปิดไป และ สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาจะให้กู้ยืมแก่ผู้นำเข้าไทยที่สั่งซื้อสินค้าเกษตรตามที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกากำหนดผ่านทางธนาคารพาณิย์ไทยที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ ด้วยวิธีการนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยผู้เปิด Letter of Credit จะได้รับเงินกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
สำหรับการจัดสรรวงเงินของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาให้แก่ประเทศไทย จำนวน 300 ล้านดอลลาร์ สรอ. นี้ เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากวงเงินที่กำหนดไว้เดิมจำนวน 100 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ไทยที่ผ่านการคัดเลือกของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาให้เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 8 ธนาคาร และใช้วงเงินประกันสินเชื่อเป็นจำนวนเพียง 63 ล้านดอลลาร์ สรอ.
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้มีหนังสือไปยังสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 ขอแจ้งให้สมาชิกให้ใช้ประโยชน์จากวงเงินนี้ให้เต็มที่ ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังไม่ได้ผ่านการคัดเลือกของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา สามารถติดต่อขอเข้าร่วมโครงการได้โดยผ่านสถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยโดยตรง
อนึ่ง เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้หารือร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เพื่อแจ้งเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวให้ทราบและเสนอให้ ธสน. พิจารณายื่นคำขอเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ