สมศ. เชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมการประเมินฯ รอบสี่ หวังกระตุ้นใช้ผลประเมินสร้างนโยบายการศึกษาจังหวัดตรงเป้า

ข่าวทั่วไป Tuesday May 27, 2014 13:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค สมศ. ประกาศปรับรูปแบบการประเมินฯ รอบสี่เป็นการประเมินเชิงพื้นที่ทั่วประเทศ ประเมินสถานศึกษาในทุกระดับทั้งจังหวัดให้เสร็จภายในเวลา ๑ ปี ครบ ๗๗ จังหวัดใน ๕ ปี พร้อมเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดมีส่วนร่วม กระตุ้นการใช้ผลประเมินวางแผนด้านการศึกษาจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ ส่งแรงขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับประเทศให้เกิดผล เผยเน้น ๒ เรื่องหลัก “วัฒนธรรมองค์กร” และ “ธรรมาภิบาล” สร้างวงจรคุณภาพจากระดับปัจเจกสู่ระดับสถานศึกษา ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๓) จะปรับเปลี่ยนเป็นการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ทั้งประเทศ หรือ ABA (Area Based Assessment) คือจะประเมินเป็นรายจังหวัด โดยจะประเมินสถานศึกษาในจังหวัดทุกระดับการศึกษาพร้อมกัน ตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บรวบรวมข้อมูล และทำให้เห็นภาพรวมการศึกษาทุกระดับของทั้งจังหวัดในเชิงกว้างและเชิงลึกภายในเวลาเพียง ๑ ปี โดยจะรายงานผลการจัดการศึกษาของจังหวัดให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ สามารถนำผลมาวิเคราะห์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร งบประมาณ ในระดับจังหวัดเพื่อการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม สร้างความร่วมมืออันจะก่อให้เกิดกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัด ทั้งนี้ สมศ. จะประกาศให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบรายละเอียดของการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่แต่ละจังหวัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑ ปี “ผลการประเมินฯ สมศ. จะสะท้อนให้เห็นภาพรวมของคุณภาพการจัดการศึกษาที่เด่นชัดทั้งจุดเด่นและจุดที่ควรพัฒนาของแต่ละจังหวัด พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ระดับสถานศึกษา ต้นสังกัด และระดับนโยบาย ดังนั้น สมศ. จะเชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดมาร่วมรับทราบผลคุณภาพการศึกษาของแต่ละจังหวัด เพื่อนำข้อมูลผลการประเมินไปประกอบการวางแผนนโยบายด้านการศึกษาที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์และบูรณาการการพัฒนาจังหวัดในมิติต่างๆ ของจังหวัดให้มีศักยภาพ สอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานและอาชีพ ให้สามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูปโครงสร้างบุคลากร การกระจายโอกาสทางด้านการศึกษา การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาทั้งระบบให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด” ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวต่อว่า การดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ในสองรอบที่ผ่านมา จะเป็นลักษณะการประเมินแบบกระจายสถานศึกษาทั่วทั้งประเทศในทุกระดับการศึกษาตามรอบการประเมิน ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งจะได้รับการประเมินและทราบผลการประเมินอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีทยอยกันไป การสรุปภาพรวมในแต่ละพื้นที่ต้องรอจนกว่าการประเมินภายนอกเสร็จสิ้นทุกสถานศึกษาในทุกห้าปี ในขณะที่สถานการณ์และบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่งเปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้พัฒนาปรับปรุงสถานศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทันต่อสถานการณ์ และสอดคล้องกับบริบทหรือความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง สมศ. จึงปรับเปลี่ยนเป็นการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ ในช่วงการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๘) มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๓ ประการ คือ เพื่อสร้างความชัดเจนของข้อมูลที่เป็นสภาพจริงของสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดว่ามีคุณภาพมาตรฐานเป็นอย่างไร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการนำผลการประเมินไปใช้ร่วมกับแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัด และเพื่อสร้างผลกระทบสู่การพัฒนา กระตุ้นให้ทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่เป้าหมายได้เข้ามามีส่วนร่วมและระดมทรัพยากรในการพัฒนาคุณภาพของจังหวัดในทุกๆ ด้าน รวมทั้งด้านการศึกษา อันจะนำสู่การคุ้มครองผู้เรียนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามเจตนารมณ์ของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประเมินฯ รอบสี่ สมศ. จะเน้นวงจรคุณภาพ ให้เกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคล เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ บุคลากร นักเรียน นิสิตนักศึกษา ผู้ปกครอง รวมถึงศิษย์เก่า เพื่อให้ส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพของสถานศึกษา โดยเฉพาะการสร้างบรรทัดฐานเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร” และ “ธรรมาภิบาล” ดังนั้นจะต้องเริ่มจากการกำหนดปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ ประเพณีปฏิบัติ และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของสถานศึกษาที่ถูกต้องและเกิดผลได้จริง ซึ่งเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมองค์กร สำหรับการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่เริ่มขึ้นในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ซึ่ง สมศ. ได้ดำเนินการเป็นโครงการนำร่องในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ จำนวน ๘ จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๖ จำนวน ๒๐ จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๗ จำนวน ๓๕ จังหวัด และในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ จำนวน ๑๔ จังหวัด ก็ได้พบว่าการให้ข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนารายจังหวัดมีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัด ส่งผลให้การแก้ไขพัฒนาคุณภาพสอดคล้องกับเป้าหมายของจังหวัดมากกว่า “หลังจากการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ในแต่ละปี สมศ. จะจัดงาน “มหกรรมคุณภาพการศึกษา” เพื่อนำเสนอผลการประเมินต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ต้นสังกัดของทุกระดับการศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ นิสิตนักศึกษา นักเรียน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงศูนย์เครือข่าย สมศ. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนในระดับจังหวัด ในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : คุณกานต์พิชชา พงศ์ถิรประสิทธิ์ (ปุ๋ย) , คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง) ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทร.0-2439-4600 ต่อ 8304 ,8202
แท็ก สมศ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ