ตลาดตราสารหนี้ไทย ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่ารวมเทียบเท่ากับจีดีพีภายใน 10 ปี

ข่าวทั่วไป Thursday September 29, 2005 13:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในวันที่ 29 กันยายน 2548 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (BEX) ได้ร่วมจัดงานแถลงการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ และปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี ของตลาดตราสารหนี้ของไทย ในหัวข้อ “ก้าวสู่ศตวรรษที่สองของตลาดตราสารหนี้ไทย ” ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปี 2548 นับเป็นปีที่ตลาดตราสารหนี้ไทยมีอายุครบ 100 ปี นับจากปี พ.ศ.2448 ที่ประเทศไทยได้ออกพันธบัตรครั้งแรกในยุโรป ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยภายหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินกลางปี 2540 รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องระดมทุนจำนวนมาก เพื่อแก้ปัญหาในภาคการเงินและเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้ใช้โอกาสนี้พัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย โดยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ว่าจะพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เป็น 1 ใน 3 แกนหลักของตลาดการเงินของประเทศ และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่ารวมของตลาดตราสารหนี้ในประเทศให้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภายในระยะเวลา 10 ปี
ดร.สันติ กีระนันทน์ ผู้จัดการ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศว่า “รัฐบาลได้กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไว้หลายด้าน ในส่วนของตลาดแรกนั้น กระทรวงการคลังได้กำหนดจะออกพันธบัตรอายุ 7 ปี และ 10 ปี ในวงเงินอย่างน้อยรุ่นละ 40,000 ล้านบาทต่อปี และรัฐวิสาหกิจจะออกพันธบัตรในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ภายใต้รูปแบบที่หลากหลาย เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือ เมกกะโปรเจ็ก ( Mega Project) และในส่วนของภาคเอกชนก็จะออกกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการออกตราสารหนี้ ให้รองรับการออมที่หลากหลายรูปแบบ
ด้านตลาดรองนั้นจะส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องที่สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นที่นักลงทุนภูมิภาคซึ่งมีระดับการออมสูง และนักลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้จะได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของตลาด ในด้านระบบการซื้อขาย กฎหมายและโครงสร้างภาษี ให้เอื้อต่อการลงทุนและระดมทุน”
ในปี 2547 ตลาดตราสารหนี้มีขนาดร้อยละ 41 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (หรือ GDP) โดย ณ วันที่ 28 กันยายน 2548 มีตราสารหนี้จดทะเบียนเพื่อซื้อขาย 73 รายการ มูลค่าคงค้างรวม 671,331 .ล้านบาท ในขณะที่ตลาดตราสารทุน และระบบสถาบันการเงิน มีขนาดร้อยละ 68 และ 77 ตามลำดับ และในสหรัฐอเมริกาขนาดของตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารทุน และระบบสถาบันการเงิน มีขนาดร้อยละ 149, 122 และ 144 ของ GDP ตามลำดับ
ดร.สันติ กล่าวเสริมว่า “ การดำเนินการนับจากนี้ไป กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (BEX) ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย และผู้ร่วมตลาดภาคเอกชน จะได้เร่งดำเนินการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งตลาดแรก ตลาดรอง และโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดตราสารหนี้ฉบับที่ 2 ซึ่งเริ่มใช้นับตั้งแต่ปีนี้ จนถึงปี 2551 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ”
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049/ วรรษมน เสาวคธนธ์เสถียร โทร. 0-2229 — 2797--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ