กรมควบคุมโรค เตือนให้เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็ก

ข่าวทั่วไป Sunday June 8, 2014 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--โฟร์ พี แอดส์ กรมควบคุมโรค เฝ้า ระวังโรคมือ เท้า ปาก ที่มาในหน้าฝน ป้องกันการระบาดช่วงเปิดเทอม ในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เน้นการรักษาความสะอาดในห้องเรียน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน ถ้าพบเด็กป่วยหรือสงสัย แยกเด็กป่วยและให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญของเชื้อโรคต่างๆ รวมทั้งโรคมือ เท้า ปากแม้จะพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2557 กับปี พ.ศ 2556 จำแนกเป็นรายเดือน พบว่า ในเดือนมีนาคม 2557 มีรายงานผู้ป่วยมากกว่าปี 2556 คิดเป็น 1.4 เท่า และเดือนเมษายนคิดเป็น 1.7 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นมีแนวโน้มของการระบาดเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นแล้ว โดยเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จะมีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก มากกว่าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ประมาณ 3.5 เท่า ดังนั้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเดือนพฤษภาคม 2557 มากกว่า 2,000 ราย และเดือนกรกฎาคมจะเป็นเดือนที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด ประมาณ 5,500 ราย จากรายงานการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 พ.ค. 2557 มีรายงานผู้ป่วย 13,653 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 21.49 ต่อแสนประชากร ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 1 ปี รองลงมา คือ 2 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ ส่วน 5 อันดับจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน รองลงมา คือ เพชรบุรี จันทบุรี เชียงราย และ ประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ โรคมือ เท้า ปาก มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อโรคนี้จะเข้าทางปากจากการที่มือสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และอุจจาระของผู้ป่วย อาการของโรคที่พบ เช่น มีไข้ ตุ่มแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากทานอาหาร อาจพบที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า เป็นต้น มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7 -10 วัน มักพบการป่วยในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่พบในสถานที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และอยู่กันอย่างแออัด โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง ภายใน 7- 10 วัน การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแก้ปวดแผลที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็กควรเช็ดตัวผู้ป่วย เพื่อลดไข้เป็นระยะและให้รับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ น้ำผลไม้และนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก ที่สำคัญคือการป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต “ถึงแม้ว่าโรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค วิธีที่ลดการเจ็บป่วยดีที่สุดคือการป้องกัน โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน การป้องกันในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ ที่มีเด็กรวมอยู่ด้วยกันจำนวนมาก ต้องแยกเด็กป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก ออกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก โดยไม่ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และต้องคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้า ที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว (1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคโดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน หากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกมีอาการที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย ๆ หอบ แขนขาอ่อนแรง ไม่ยอมรับประทานอาหารและนํ้า รีบนำมาบุตรหลานมาพบแพทย์ ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 025903159 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ