ฟิทช์: ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะออกตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 10, 2014 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีการออกหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 เพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างเงินกองทุนให้แข็งแกร่งมากขึ้น นอกจากนี้กฎเกณฑ์ต่างๆ ได้มีการปรับปรุงให้มีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว รวมทั้งนักลงทุนมีการยอมรับการลงทุนในตราสารประเภทดังกล่าว แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มมีการบังคับใช้เกณฑ์บาเซล 3 ไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 แต่การออกหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 นั้นยังมีจำนวนไม่มากนักในช่วงแรก โดยเป็นการเสนอขายในวงจำกัด (private placement) และมีมูลค่าค้อนข้างน้อย ดังนั้นแผนการเสนอขายหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของธนาคารธนชาต (TBANK, อันดับเครดิตภายประเทศ ‘A+(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ในวันที่ 19 มิถุนายน จึงจะเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ประเภทดังกล่าวครั้งแรกในวงกว้างในประเทศไทย หลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์บาเซล 3 จะเป็นการปรับลดอันดับเครดิตลงจากอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ซึ่งจะพิจารณาจากระดับความเสี่ยงที่ตราสารดังกล่าวจะไม่สามารถชำระผลตอบแทนได้ตามที่ได้กำหนดไว้ (non-performance risks) และการขาดทุนจากการรับชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) สำหรับประเทศไทยหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ที่ผ่านมาได้มีการระบุถึงปัจจัยที่จะทำให้ผู้ถือตราสารประเภทดังกล่าวต้องรองรับผลขาดทุนไว้เพียงปัจจัยเดียวคือเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (at point of non-viability) ทั้งนี้ตราสารประเภทดังกล่าวไม่ได้มีการระบุถึงการรองรับผลขาดทุนในระหว่างดำเนินการ (going-concern loss absorption) ดังนั้นจึงไม่มีการปรับอันดับเครดิตลดลงเพิ่มเติมจากอันดับเคดดิตที่ใช้อ้างอิงสำหรับความเสี่ยงที่ตราสารดังกล่าวจะไม่สามารถชำระผลตอบแทนได้ตามที่กำหนดในระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของฟิทช์ ปัจจัยที่จะแสดงว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้แล้ว คือเมื่อทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินกิจการต่อได้ ในกรณีที่ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวซึ่งมีคุณสมบัติที่ด้อยสิทธิในโครงสร้างเงินทุนจะมีระดับหนี้สูญที่อาจได้รับคืน (debt recovery) ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตราสารที่ไม่ด้อยสิทธิ ดังนั้นเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการรับชำระคืนเงินกู้ ในกรณีปรกติฟิทช์จะปรับลดอันดับเครดิตของตราสารที่ด้อยสิทธิลง 1 อันดับจากอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง และ 2 อันดับในกรณีที่น่าจะเกิดการขาดทุนในระดับสูงมาก (ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าตราสารดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญทั้งจำนวนอย่างถาวร) หุ้นกู้ที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของธนาคาร ยูโอบี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBT (‘A-’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) จำนวน 170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ธนาคารเสนอขายในวงจำกัดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 มีการระบุถึงการรองรับผลขาดทุนในลักษณะที่จะถูกตัดเป็นหนี้สูญทั้งจำนวนอย่างถาวรเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งในกรณีนี้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวจะถูกปรับลดอันดับลง 2 อันดับจากอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง แม้ว่าโดยทั่วไปอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิงคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน หรือ Viability Rating ของผู้ออกหุ้นกู้ แต่ในกรณีของธนาคารที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารแม่ เช่น UOBT ฟิทช์เชื่อว่าธนาคารแม่จะให้ความช่วยเหลือกับธนาคารลูกล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ธนาคารลูกมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ดังนั้นในกรณีนี้อันดับเครดิตที่เหมาะสมในการใช้อ้างอิงจะเป็นอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Issuer Default Rating) ของธนาคาร หุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ที่จะออกโดย TBANK มีคุณสมบัติที่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ เมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวอันดับเครดิตของหุ้นกู้น่าจะถูกปรับลงจากอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง 1 อันดับ ซึ่งในกรณีของ TBANK อันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิงคืออันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารที่ ‘A+(tha)’ ซึ่งพิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารเอง (stand-alone) ณ สิ้นปี 2556 ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมดมียอดคงค้างของหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ 270 พันล้านบาท โดยเกือบทั้งหมดเป็นหุ้นกู้เดิมตามเกณฑ์บาเซล 2 เนื่องจากหุ้นกู้เหล่านี้ต้องทยอยหมดสิทธิในการนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 รวมทั้งต้องทยอยไถ่ถอนเมื่อครบกำหนด ฟิทช์คาดว่าหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จะลดลงประมาณ 81 พันล้านบาทในปี 2557 และลดลงต่อเนื่องอีก 53 พันล้านบาทในปี 2558 ซึ่งแสดงว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องออกหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านเงินกองทุน อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (core Tier 1) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอที่ประมาณ 11.63% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งอาจแสดงว่าแรงกดดันต่อธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ในการออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ยังคงมีไม่มากนัก รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของตราสารด้อยสิทธิและตราสารด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของธนาคาร แสดงไว้ใน “Assessing and Rating Bank Subordinated and Hybrid Securities Criteria” ลงวันที่ 31 มกราคม 2557 ซึ่งสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ