5 ข้อ จำไว้ ไม่ปวดหัวภายหลังเพราะพาสเวิร์ด

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday June 10, 2014 17:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เรื่องหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะได้ยินจนแทบจะชินชาไปแล้วคือเรื่องการแฮคข้อมูล ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกไม่ว่าจะเว็บไซต์เล็กหรือใหญ่โดนขโมยพาสเวิร์ด จนต้องไล่แก้ปัญหากันแทบจะทุกสัปดาห์ แต่ในเมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว โลกทั้งใบอยู่ที่หน้าจอ จะจองตั๋วหนัง สั่งของออนไลน์ หรือโอนเงินก็ทำได้หมด เราคงจะเลี่ยงการใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้ ดังนั้นควรที่จะหันมาทำความเข้าใจถึงวิธีที่ถูกต้องที่จะช่วยป้องกันภัยเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกันดีกว่า ไมโครซอฟท์มีเคล็ดลับดีๆ 5 ข้อ ที่จะช่วยป้องกันให้คุณไม่ต้องเจอกับเรื่องน่าปวดหัวเกี่ยวกับพาสเวิร์ด ที่รับรองว่าไม่ยาก ใครๆก็ทำได้ 1. จำให้ขึ้นใจว่า ควรทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านเว็บที่มีบริการเข้ารหัสหรือ encryption เท่านั้น การใส่พาสเวิร์ด เข้าไปในเว็บไซต์ก็คือการที่ข้อมูลของเราเดินทางไปบนโลกอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ดังนั้นเว็บไซต์ดังๆ ทั้งหลายจะต้องมีการป้องกันข้อมูลเหล่านี้ ไม่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้าถึงได้ โดยการเข้ารหัสข้อมูล หรือที่เรียกว่า encryption ระหว่างที่ข้อมูลกำลังเดินทางจากเครื่องของเรา ไปยังผู้ให้บริการ โดยเหล่าผู้ไม่หวังดีจะไม่สามารถอ่านพาสเวิร์ดของคุณได้ วิธีสังเกตง่ายๆว่า เว็บไซต์ที่คุณใช้บริการนั้น มีการเข้ารหัสหรือไม่ ให้ดูว่าที่อยู่เว็บไซต์ที่ปกติจะขึ้นด้วย http:// จะต้องมีตัว s ซึ่งย่อมาจากคำว่า secure ต่อท้ายด้วย เป็น https:// 2. อย่าใช้พาสเวิร์ดเดียวกัน แน่นอนว่าเกือบจะทุกคน เป็นสมาชิกเว็บไซต์มากกว่า 1 แห่ง ดังนั้นบางคนที่ขี้เกียจจำหลายๆ พาสเวิร์ดก็จะตั้งให้เหมือนกันซะเลย หารู้ไม่ว่า ในยุคที่เราทำธุรกรรมหลายอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต พวกเหล่าอาชญากรไซเบอร์ ก็จ้องที่จะขโมยข้อมูลเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา แค่ในช่วงปีนี้มีหลายเว็บไซต์ที่ต้องแจ้งสมาชิกให้เปลี่ยนพาสเวิร์ดเพราะเซิร์ฟเวอร์ โดนแฮคไปหลายเว็บแล้ว ดังนั้น ถ้าคุณใช้พาสเวิร์ดเดียวกันทุกเว็บ มีความเป็นไปได้สูงที่ถ้าหากคุณโชคร้ายโดนขโมยพาสเวิร์ดไป พวกเหล่ามิจฉาชีพอาจจะเอาไปใช้เข้าทุกเว็บที่คุณเป็นสมาชิกอยู่ก็ได้ แล้วการไล่เปลี่ยนพาสเวิร์ดทุกๆ เว็บก็เป็นเรื่องเสียเวลามาก ดังนั้นป้องกันเสียตั้งแต่ต้น จะได้ไม่เสียเวลาภายหลัง 3. ระวังมัลแวร์ในเครื่องให้ดีๆ มัลแวร์ คือโปรแกรมอันตรายที่ส่งผลเสียต่อเครื่องของคุณ ซึ่งหนึ่งในอันตรายที่น่ากลัวคือการดักจับข้อมูลที่พิมพ์เข้าไปในเครื่อง ซึ่งรวมถึงพาสเวิร์ดของเว็บต่างๆ ด้วย แล้วทำการส่งไปยังผู้ไม่หวังดีปลายทาง โดยมัลแวร์มักจะมาจากการติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อน มีผลสำรวจออกมาแล้วว่า คอมพิวเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนในประเทศไทยติดมัลแวร์สูงถึง 84%* ดังนั้น ต่อให้ระวัง 2 ข้อด้านบนขนาดไหน เจอมัลแวร์เข้าไปก็ไม่รอดเหมือนกัน ดังนั้นจำให้ขึ้นใจว่าควรเลือกซื้อเฉพาะเครื่องที่ติดตั้ง Windows 8.1 แท้มาแล้วเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยง 4. 12345678 คือตัวเลขอันตราย ไม่น่าเชื่อว่าจนป่านนี้ ปี 2014 แล้ว ตัวเลข 12345678 ยังคงเป็นพาสเวิร์ดที่ได้รับความนิยมสูงมากเป็นอันดับต้นๆ สะท้อนให้เห็นความประมาทของผู้ใช้งาน ที่คิดว่าไม่มีใครเดาได้ นอกจากนี้คำว่า ‘password’ ก็เป็นอีกคำที่หลายคนเลือกใช้เพราะว่าจำง่าย ตอนนี้หลายๆ เว็บก็มีมาตรการไม่ให้ใช้คำดังกล่าวเป็นพาสเวิร์ด หรือมีการบังคับให้ใช้อักษรพิเศษเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ดังนั้นจำไว้เลยว่าถ้าคุณรู้สึกว่าคำไหนจำง่าย โจรก็มักจะรู้เหมือนกัน 5. อย่าเก็บพาสเวิร์ดในเครื่อง เคยได้ยินใช่ไหม ที่ธนาคารบอกว่าอย่าจดรหัส ATM ไว้ไนกระเป๋าสตางค์ ที่มีบัตร ATM อยู่ เพราะว่าถ้ากระเป๋าหายไปล่ะก็เท่ากับเป็นการมอบเงินในบัญชีให้โจรไปเลย พาสเวิร์ดก็เหมือนกัน จะจำยากขนาดไหน ก็ต้องฝืนใจ อย่าเซฟเป็นไฟล์ไว้ในเครื่องโดยเด็ดขาด เพราะว่ามีความเสี่ยงอยู่สองอย่างคือ ข้อแรก ถ้ากรณีถูกขโมย แล้วเครื่องตกไปอยู่ในมือโจรล่ะก็ เท่ากับว่าโจรก็จะมีกุญแจเข้าบัญชีออนไลน์ของคุณได้ทั้งหมดเลย ข้อสอง ถ้าไม่ถูกขโมย แต่ว่าดันไปเก็บในเครื่องที่มีมัลแวร์จากซอฟต์แวร์เถื่อนล่ะก็ วันดีคืนดี อาจจะหาไฟล์ไม่เจอเอาได้ เพราะว่ามัลแวร์สามารถทำลายไฟล์ข้อมูลในเครื่องของคุณได้ ทีนี้ล่ะก็ เจ้าพาสเวิร์ดที่อุตส่าห์ตั้งไว้ยากๆ อาจจะกลับมาเล่นงานคุณได้ เพราะตัวเองลืมซะนี่ จำไว้ว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ต ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆในชีวิต คือต้องรู้จักระมัดระวัง และตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา อะไรที่ง่ายเกินไป อาจจะนำภัยมาสู่ตัวผู้ใช้งานได้ เช่นการตั้งพาสเวิร์ดง่ายๆ เพื่อประหยัดเวลา หารู้ไม่ว่าเป็นการเปิดช่องให้อันตรายเข้าถึงตัว เพราะว่าเหล่าอาชญกรสามารถเดาทางได้ถูก หรือการเลือกใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน โดยคิดว่าถูกและคุ้มนั้น อาจจะได้ของแถมเป็นมัลแวร์มาด้วยก็ได้ เพราะว่าโปรแกรมรักษาความปลอดภัยของเครื่องจะถูกปิด ทำให้ความสามารถในการป้องกันมัลแวร์ลดลงมาก ทีนี้ล่ะก็อาจจะต้องมานั่งเครียดเพราะว่าพาสเวิร์ดเข้าบัญชีธนาคารออนไลน์ถูกขโมยก็เป็นได้ *จากผลการศึกษา “The Link Between Pirated Software and Cybersecurity Breaches: How Malware in Pirated Software Is Costing the World Billions” โดย IDC และ NUS ปี 2557 ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (NASDAQ “MSFT”) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 เป็นผู้นำระดับโลกด้านบริการซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) http://www.microsoft.com/thailand ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และหรือประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ หมายเหตุ: หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไมโครซอฟท์สามารถดูได้ที่ http://www.microsoft.com/presspass ในส่วนของหน้าข้อมูลบริษัท
แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ