แกรนท์ ธอนตันชี้ ฟุตบอลโลกบราซิล บทเรียนราคาแพงสำหรับตลาดเกิดใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 13, 2014 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย แกรนท์ ธอนตันชี้ ฟุตบอลโลกอาจไม่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศบราซิลเติบโตอย่างรวดเร็วดังหวัง อีกทั้งยังเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับตลาดเกิดใหม่ ในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอย่างเช่น กีฬาเอเชียนเกมส์ ผลสำรวจล่าสุดในรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีของแกรนท์ ธอนตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) พบว่าความตื่นตัวของธุรกิจในประเทศบราซิลต่อการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกประจำปี 2557 ได้ลดลงตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา ขณะที่ยังคงมีผู้นำธุรกิจบางส่วนคาดการณ์ถึงการลงทุนหรือผลกำไรที่อาจเพิ่มขึ้น จากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการไหลบ่าเข้ามามากขึ้นของนักท่องเที่ยว เนื่องจากการการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว คุณแอนดรูว์ แม็คบีน หุ้นส่วนและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “การเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ มักจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตให้แก่ประเทศเจ้าภาพ ตัวอย่างเช่น ตัวเลขประมาณการรายได้จากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ในกรุงลอนดอน ที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอังกฤษในปี 2555 ปีเดียว สูงถึงราว 9.9 พันล้านยูโรหรือประมาณ 551,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวการประกาศถอนตัวของประเทศเวียดนาม สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นสิ่งเตือนให้เราต้องพิจารณาและวางแผน ถึงสิ่งที่เราคาดหวังจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพอย่างรอบคอบก่อน โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว จำเป็นต้องประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย” ผลสำรวจ IBR ยังเผยให้เห็นถึงสัดส่วนของผู้นำธุรกิจในประเทศบราซิล ที่เชื่อว่าการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีจำนวนลดลงจากร้อยละ 80 ในไตรมาส 1 ปี 2555 เหลือเพียงร้อยละ 33 ในไตรมาส 1 ปี 2557 ในทำนองเดียวกัน มีเพียงร้อยละ 11 ของธุรกิจในปัจจุบัน ที่วางแผนจะลงทุนเพิ่มเนื่องจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ซึ่งลดลงจากร้อยละ 23 ในปี 2555 นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่ามีเพียงร้อยละ 19 ที่คาดว่ากำไรของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น และมีถึงร้อยละ 52 ที่คาดหวังว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คุณมาเดลีน บลังเค่นสตีน หุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศบราซิล ให้ความเห็นว่า “เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศบราซิลที่ไม่สู้ดีนักในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ความตื่นตัวของเหล่านักธุรกิจในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกกำลังค่อยเป็นค่อยไป โดยสิ่งแรกที่ทุกคนต่างคาดหวังคือการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้ประเทศพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมมากกว่า 600,000 คนในฤดูร้อนนี้ ยังไม่รวมถึงการต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2559 ที่ใกล้เข้ามา ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มแนวโน้มของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ควรเป็นโอกาสที่ช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศบราซิลสู่สายตาคนทั่วโลก แต่กลับกลายเป็นเรื่องของความล่าช่าในการก่อสร้างสนามกีฬาและการประท้วงของประชาชนกับทั้งภาครัฐและสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) ที่สื่อต่างประเทศต่างให้ความสนใจ” “อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนเองต่างก็ได้รับบทเรียนเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน และรับรู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นที่ควรต้องทำก่อน เพื่อให้ประเทศพร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2559 ที่จะมาถึง และช่วยให้การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรมมากขึ้น” นอกจากนี้ ผู้นำทางธุรกิจร้อยละ 42 มองว่าผลพลอยได้สำคัญสำหรับประเทศบราซิล ที่ได้จากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน คือเรื่องการลงทุนพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะด้านการคมนาคนขนส่ง ขณะที่ร้อยละ 26 คาดหวังถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามร้อยละ 31 มองว่าการก่อสร้างสนามกีฬาในเมืองสร้างความยุ่งยากในการใช้ชีวิตประจำวัน และมีเพียงแค่ร้อยละ 40 ที่เชื่อว่าสนามกีฬาจะถูกนำกลับมาใช้ หลังการแข่งขันจบลง “การบริหารจัดการสถานที่หรือสนามกีฬาในอนาคต ภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ อย่างสนามกีฬาแห่งชาติในกรุงปักกิ่งและสนามกรีนพอยท์ สเตเดี้ยม ในเมืองเคปทาวน์ มันค่อนข้างยากที่จะเห็นสนามกีฬาอารีน่า อเมซอเนีย ในเมืองมาเนาส์ ถูกนำกลับมาใช้เป็นอย่างดีหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน แต่ก็ยังมีกรณีศึกษามากมายที่ควรศึกษา เพื่อช่วยไม่ให้สนามกีฬาเหล่านี้หมดประโยชน์ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีศึกษาบริเวณด้านตะวันออกของกรุงลอนดอน ภายหลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2555 ที่ได้มีการอนุญาตให้มีการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวซึ่งได้ถูกทิ้งร้างไว้ก่อนหน้า ให้มีความน่าสนใจต่อการลงทุนในเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยอย่างมีนัยสำคัญ” คุณแอนดรูว์ กล่าวเสริม “แม้ประเทศไทย จะเคยเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ถึง 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดได้จัดขึ้นเมื่อปี 2541 ที่ผ่านมาก็ตาม แต่กรณีศึกษาเหล่านี้ ตลอดจนการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้ เข้าใจและวางแผนให้ดี ก่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันใดๆ ก็ตามในอนาคต”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ