ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. เอ็ม บี เค” ที่ “A/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 23, 2014 19:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก ตลอดจนการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มธนชาต และความยืดหยุ่นด้านการเงินที่อยู่ในระดับสูงจากการมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของบริษัทที่อ่อนตัวลง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก และยังคาดด้วยว่าบริษัทจะปรับปรุงระดับคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจการเงินให้อยู่ในระดับที่ดีจากการมีขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่เข้มงวด บริษัทเอ็ม บี เค ก่อตั้งในปี 2517 ปัจจุบัน บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่มธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทในสัดส่วนรวม 20% บริษัทดำเนินธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า ตลอดจนโรงแรม สนามกอล์ฟ การพัฒนาที่อยู่อาศัย ธุรกิจข้าว และธุรกิจการเงิน โดยเป็นเจ้าของและบริหารจัดการศูนย์การค้า “เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์” ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียงที่ตั้งอยู่บนที่ดินเช่าติดกับย่านสยามสแควร์ในใจกลางกรุงเทพฯ แม้จะมีธุรกิจที่หลากหลาย แต่ผลประกอบการของบริษัทยังคงขึ้นอยู่กับสินทรัพย์หลักอันได้แก่ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และ “โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยในปี 2556 สินทรัพย์ดังกล่าวสร้างรายได้ประมาณ 35% และสร้างกระแสเงินสดประมาณ 61% ให้แก่บริษัท เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของรายได้ บริษัทจึงได้ขยายการลงทุนในธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้นโดยได้กลับมาเปิดให้บริการพื้นที่ให้เช่าใน “ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค” ในปี 2553 และเปิด “เดอะ ไนน์” ซึ่งเป็นศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) แห่งแรกของบริษัทซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระราม 9 ในปี 2554 บริษัทยังมีแผนเปิดศูนย์การค้าชุมชนแห่งใหม่ในช่วงปลายปี 2557 ด้วย โดยศูนย์การค้าชุมชนแห่งใหม่จะมีพื้นที่ให้เช่าประมาณ 18,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งตั้งอยู่ติดกับศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์คบนถนนศรีนครินทร์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัดส่วนการลงทุน 31% ใน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าในย่านสยามสแควร์ด้วยเช่นเดียวกัน ณ เดือนมีนาคม 2557 บริษัทบริหารพื้นที่ค้าปลีกรวม 182,412 ตร.ม. และพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่ารวม 56,030 ตร.ม. สำหรับธุรกิจโรงแรมนั้น ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและให้บริการโรงแรม 6 แห่งในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยโดยมีจำนวนห้องพักรวม 978 ห้อง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองจนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติลดลง 5.8% สู่ระดับ 6.6 ล้านคนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ซึ่งส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยของบริษัทลดลงเหลือ 64.2% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 เมื่อเทียบกับระดับ 83.8% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราค่าห้องพักปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 1.6% สู่ระดับ 3,232 บาทต่อคืนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ส่งผลให้อัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ของบริษัท (Revenue Per Available Room - RevPAR) โดยเฉลี่ยลดลงจาก 2,752 บาทต่อคืนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 เป็น 2,076 บาทต่อคืนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 สำหรับธุรกิจให้บริการทางการเงินนั้น บริษัทให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ผ่าน บริษัทที ลีสซิ่ง จำกัด และ และ บริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด ตามลำดับ โดย บริษัทมียอดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คงค้างเพิ่มขึ้นจาก 997 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2554 เป็น 2,188 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2556 ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.1% ในปี 2554 เป็น 7% ในปี 2556 เพื่อเป็นการลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ บริษัทได้ชะลอการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ รวมถึงเพิ่มความรอบคอบในการพิจารณาสินเชื่อและกระบวนการจัดเก็บหนี้ให้เข้มงวดมากขึ้น ในส่วนการให้บริการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์นั้น บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้นจาก 2,430 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2554 เป็น 4,999 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2556 ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อคงค้างที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 1% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในปี 2556 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 11.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 9,272 ล้านบาทอันเนื่องมาจากผลของการปรับอัตราค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกและการขยายเงินให้สินเชื่อ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (ปรับอัตราส่วนค่าเช่าดำเนินงาน) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 37% ในปี 2556 สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีรายได้ 2,209 ล้านบาทและมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 40.4% เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 9,988 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 เป็น 13,967 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 เนื่องจากการเปลี่ยนมาตรฐานทางบัญชีในเรื่องสัญญาเช่า โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนภาระค่าเช่าเป็นภาระหนี้ทางการเงินมีมูลค่า 5,105 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ปรับปรุงการเช่าดำเนินงานแล้ว) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 38.9% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 เป็น 53.1% ณ เดือนมีนาคม 2557 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2,815 ล้านบาทในปี 2555 สู่ระดับ 6,249 ล้านบาทในปี 2556 อันเนื่องมาจากการมีกำไรจากการขายทรัพย์สินจำนวน 3,095 ล้านบาท อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ปรับตัวดีขึ้นจาก 28.2% ในปี 2555 เป็น 31.8% ในปี 2556 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทสำหรับช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 อยู่ที่ระดับ 650 ล้านบาท ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 24.6% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดย ณ เดือนมีนาคม 2557 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 1,077 ล้านบาท ในขณะที่เงินลงทุนชั่วคราวมีมูลค่า 1,078 ล้านบาท สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการรัฐประหารภายหลังจากที่ได้ประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ในมุมมองของทริสเรทติ้งคาดว่าการประกาศกฎอัยการศึกและรัฐประหารจะส่งผลกระทบในทางลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและธุรกิจท่องเที่ยวอย่างน้อยในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ผลจากการรัฐประหารต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวขึ้นอยู่กับนโยบายที่ดำเนินการโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และความสำเร็จในการปฏิรูปการเมืองและสังคมของ คสช. หากนโยบายดังกล่าวสามารถยุติความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมายาวนานได้ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากการมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย โดยประสบการณ์ในอดีตแสดงให้เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไข เมื่อเร็ว ๆ นี้ คสช. ได้ประกาศแผนปฏิรูปทางการเมืองเพื่อเตรียมให้ประเทศเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยรวมทั้งแผนปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยแผนดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK) อันดับเครดิตองค์กร: A อันดับเครดิตตราสารหนี้: MBK163A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A MBK188A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A MBK188B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A MBK207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A MBK207B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A MBK227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A MBK229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A MBK229B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A MBK27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ