โพลล์สำรวจความรับรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่ของคนรุ่นใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday June 25, 2014 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจความรับรู้เกี่ยวกับสุนทร “ภู่” และความคิดเห็นต่อการอ่าน/เขียนบทร้อยกรองของประชาชนคนรุ่นใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ศ.ศรีศักดิ์กล่าวหลังจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,124 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.25 ขณะที่ร้อยละ 48.75 เป็นเพศชาย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 37.81 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 21 ถึง 25 ปี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 31.76 และร้อยละ 30.25 จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าและระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าตามลำดับ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับสุนทร “ภู่” กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 86.74 ทราบว่าวันสุนทร “ภู่” ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ขณะที่เมื่อพูดถึงสุนทร “ภู่” กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นึกถึงบทประพันธ์ประเภทนิทานเป็นอันดับแรกโดยคิดเป็นร้อยละ 39.86 รองลงมาร้อยละ 37.10 นึกถึงบทประพันธ์ประเภทกลอนนิราศเป็นอันดับสอง และเมื่อพูดถึงสุนทร “ภู่” กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.13 นึกถึงงานประพันธ์เรื่องพระอภัยมณีเป็นอันดับแรก รองลงมานึกถึงงานประพันธ์เรื่องนิราศเมืองแกลงเป็นอันดับสองซึ่งคิดเป็นร้อยละ 21.44 ส่วนประโยชน์สำคัญสูงสุด 3 ประการที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่าได้จากการอ่านงานประพันธ์ของสุนทร “ภู่” คือ ได้ความสนุกเพลิดเพลิน คิดเป็นร้อยละ 78.47 เป็นตัวอย่างในการแต่งบทประพันธ์ คิดเป็นร้อยละ 75.53 และได้เรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 72.95 นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบความชอบระหว่างการอ่านงานประพันธ์ประเภทร้อยแก้วกับประเภทร้อยกรอง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.15 ชอบอ่านงานประพันธ์ประเภทร้อยแก้วมากกว่างานประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ส่วนในกรณีที่อ่านบทร้อยกรองต่าง ๆ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยอมรับว่าตนเองเข้าใจเนื้อหาที่ถ่ายทอดผ่านบทร้อยกรองนั้น ๆ น้อยกว่าครึ่งหนึ่งโดยคิดเป็นร้อยละ 29.89 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 24.91 ยอมรับว่าตนเองเข้าใจประมาณครึ่งหนึ่ง มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 16.28 และร้อยละ 19.04 ที่เข้าใจเนื้อหาทั้งหมดและเข้าใจมากกว่าครึ่งหนึ่งตามลำดับ สำหรับประเภทบทร้อยกรองที่กลุ่มตัวอย่างรู้จักมากที่สุด 5 ประเภท ได้แก่ กลอนแปด คิดเป็นร้อยละ 93.15 กลอนสักวา คิดเป็นร้อยละ 91.28 กาพย์ยานี 11 คิดเป็นร้อยละ 89.15 โคลงสี่สุภาพ คิดเป็นร้อยละ 86.74 และกาพย์ฉบัง 16 คิดเป็นร้อยละ 80.07 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.4 ระบุว่าเคยแต่งบทร้อยกรอง เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนด้วยตนเองบ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.48 เห็นด้วยว่าผู้คนในสังคมปัจจุบันมีความสามารถในการแต่งบทร้อยกรองด้อยกว่าบุคคลในสมัยก่อน สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันกับการเขียนบทร้อยกรองนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 54.63 มีความคิดเห็นว่าปัจจุบันการใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปส่งผลให้มีโอกาสแต่งบทร้อยกรองน้อยลง ส่วนกลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งมีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันการใช้ภาษาไทยบนสื่อสังคมออนไลน์มีส่วนทำให้ผู้คนมีความสามารถในการแต่งบทร้อยกรองน้อยลงคิดเป็นร้อยละ 50.27 แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.67 เห็นด้วยหากจะมีการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่เรียนรู้/ฝึกหัดเขียนบทร้อยกรองประเภทต่าง ๆ ให้มากขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นระหว่างการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการแต่งบทร้อยกรองประเภทต่าง ๆ อย่างละเอียดไว้ในแบบเรียนภาษาไทยกับการให้นักเรียนนักศึกษาไปค้นคว้าหาความรู้จากหนังสืออื่น ๆ นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.27 มีความคิดเห็นว่าการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการแต่งบทร้อยกรองประเภทต่าง ๆ อย่างละเอียดไว้ในแบบเรียนภาษาไทยเลยเป็นวิธีที่เหมาะสมในการช่วยเพิ่มทักษะความรู้เกี่ยวกับการแต่งบทร้อยกรองให้กับนักเรียนนักศึกษาได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เหลือมีความคิดเห็นว่าการให้นักเรียนนักศึกษาไปค้นคว้าจากหนังสือเล่มอื่น ๆ เป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 41.73
แท็ก สุนทรภู่  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ