สถาบันฯสิ่งทอโชว์ผลวิจัยน้ำยางพาราพืชเศรษฐกิจเมืองใต้สู่ลวดลายบนผ้าบาติก

ข่าวทั่วไป Monday July 7, 2014 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โชว์ผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดึงศักยภาพยางพารา พืชเศรษฐกิจหลักสู่การพัฒนาแม่พิมพ์และสารเหลวเขียนลวดลายผ้าบาติก ทดแทนการใช้เทียนและพาราฟิน ลดปริมาณการนำเข้า ผสานการย้อมสีธรรมชาติจากพืชให้สีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับคุณภาพผลักดันสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า โครงการประยุกต์ใช้น้ำยางพาราและพืชให้สีเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำความคิดสร้างสรรค์ ดึงวัฒนธรรมมาผสมผสานเทคโนโลยีวิจัยและสร้างนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมของโครงการฯ คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะน้ำยางพารา ซึ่งมีผลผลิตค่อนข้างมากต่อปี และถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ มาต่อยอดให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการผ้าบาติกที่สามารถช่วยเสริมศักยภาพและสร้างเอกลักษณ์ โดยการนำน้ำยางพารามาพัฒนาแม่พิมพ์ลวดลายผ้าบาติกและใช้เป็นสารเหลวเขียนลวดลายผ้าบาติก ทดแทนการใช้เทียนและพาราฟิน ลดปริมาณการนำเข้าอุปกรณ์ที่มีราคาแพง อีกส่วนเป็นการย้อมสีธรรมชาติจากพืชให้สีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ใบยางพารา เปลือกยางพารา ใบลองกอง เปลือกโกงกาง เปลือกสะเดา ดอกดาหลา ส้มแขก มาใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีธรรมชาติเพิ่มความสวยงาม เหล่านี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ ทักษะของผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสะอาด ลดการใช้สารเคมี เพื่อพัฒนาสู่การเป็น "อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ทั้งนี้ลวดลายผ้าบาติกกับน้ำยางพาราเป็นเรื่องเล่าเรื่องใหม่ในวงการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการร่วมกันสร้างนวัตกรรมงานวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2 ในกิจกรรมที่ 2 การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ปี 2557 ภายใต้หัวข้อวิจัยเรื่อง การประยุกต์ใช้น้ำยางพาราและพืชให้สีเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งเน้นการศึกษาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาอัตราส่วนผสมของน้ำยางพาราที่เหมาะสม ในการกั้นสีบนลวดลายผ้าบาติกในจังหวัด 5 ชายแดนภาคใต้ การพัฒนาแม่พิมพ์ลวดลายผ้าบาติกจากยางพารา และการศึกษาพันธุ์พืชให้สีและการสกัดสีย้อมผ้าบาติก และระยะที่ 2 เปรียบเทียบประสิทธิภาพการกั้นสีของน้ำยางพาราและแม่พิมพ์ผ้าบาติกจากยางพาราบนผ้า 3 ชนิด จากนั้นศึกษาประสิทธิภาพการติดสีและความคงทนของสีในผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติ นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีในครั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเขียนลวดลายผ้าบาติก ได้แม่พิมพ์ลวดลายผ้าบาติกจากยางพารา และได้สีย้อมสีธรรมชาติจากพืช ที่สามารถเพิ่มศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตผ้าบาติกได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าลวดลายของผ้าบาติกที่เกิดขึ้นจากร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายที่มีความตั้งใจในการคิดค้นวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมน้ำยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ ให้สามารถนำมาเขียนจนเกิดลวดลายบนผ้าบาติกที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเครื่องแต่งกายมุสลิมที่ สวย ดี มีคุณภาพ และเตรียมเข้าสู่สากล สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thti.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ