สคร.7 ลงพื้นที่ควบคุมโรคมาลาเรียระบาดที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี

ข่าวทั่วไป Thursday July 10, 2014 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สคร.7 ลงพื้นที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ไม่เข้าไปในป่าลึกตามแนวชายแดนซึ่งมียุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคอยู่ วานนี้ 9 ก.ค. 2557 นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย พร้อมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง และมอบเวชภัณฑ์ให้โรงพยาบาลบุณฑริกในการป้องกันควบคุมไข้มาลาเรีย โดยเน้น 4 มาตรการในการป้องกันการระบาดของโรคมาลาเรีย คือ 1.การให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เรื่องการป้องกันตัวเองจากการถูกยุงก้นปล่องกัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย 2.การดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อทำการรักษาโดยเร็ว 3.สนับสนุนยารักษา ยากันยุง และมุ้งชุบสารเคมี แก่หน่วยงานในพื้นที่ และ มาตรการสำคัญที่สุดในการหยุดการระบาดของโรคมาลาเรียก็ คือ 4.การลดจำนวนประชาชนที่เข้าไปในป่าลึกตามแนวชายแดนซึ่งมียุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคอยู่ นพ.ศรายุธ กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย หรือโรคไข้จับสั่น ที่มีการระบาดในพื้นที่อำเภอบุณฑริกและอำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี ว่าจากการสอบสวนโรคทำให้ทราบว่ากลุ่มผู้ป่วยส่วนมากมีอาชีพหาของป่า มีพฤติกรรมเดินทางเข้าไปในป่าลึกตามแนวชายแดนซึ่งมียุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคอยู่ทำให้ถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัด และทำให้เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียจำนวนมาก จากรายงานสถานการณ์โรคมาลาเรีย ในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคมาลาเรีย จำนวนทั้งสิ้น 2,370 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 2,185ราย ที่อำเภอบุณฑริกและนาจะหลวย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดศรีสะเกษ พบผู้ป่วยจำนวน 155 ราย,มุกดาหาร พบผู้ป่วยจำนวน 12 ราย,อำนาจเจริญ พบผู้ป่วยจำนวน 6 ราย,ยโสธร พบผู้ป่วย จำนวน 4 ราย ,สกลนคร พบผู้ป่วยจำนวน 5 ราย และจังหวัดนครพนม พบผู้ป่วย จำนวน 3 ราย นพ.ศรายุธ กล่าวต่ออีกว่า ถึงแม้โรคนี้จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ จะเสี่ยงทำให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากโรคนี้เชื้อโรคจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดง หากรุนแรงจะทำให้เชื้อโรคขึ้นสมอง ประเด็นสำคัญคือประชาชนยัง ไม่ค่อยตระหนักถึงโรคนี้ เพราะไม่เคยมีการระบาดมาก่อน จึงไม่มีการป้องกัน เวลาเจ็บป่วยก็ไม่คิดว่ามาจากโรคมาลาเรีย จึงไม่ไปตรวจรักษา ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิต ดังนั้น แนวทางการป้องกันประชาชนไม่ควรเข้าไปในป่าลึกและหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด ทายากันยุง สวมเสื้อผ้าหนาๆแขนยาวปกปิดใบหน้าศีรษะให้มิดชิด และงดการนอนพักแรมในป่าทึบช่วงที่มีการระบาด แต่หากจำเป็นก็ควรมีมุ้ง กันยุง หรือสุมไฟเพื่อไล่ยุงเวลากลางคืน หลังกลับจากการเข้าป่าควรสังเกตอาการของตนเอง ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หากมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ลักษณะของอาการไข้เรียกว่า ไข้จับสั่น คือ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูง และตามด้วยเหงื่อออก อาการไข้แบบเป็นๆหายๆ ไข้ วันเว้นวันหรือวันเว้นสองวัน และเป็นไข้ช่วงเวลาเดิมที่เคยเป็น ก็ให้สงสัยได้เลยว่าอาจได้รับเชื้อมาลาเรีย และควรไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการมากและไม่มาพบแพทย์อาจเสียชีวิตได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ