“ปัญหาเทควันโดหญิงทีมชาติไทย”

ข่าวทั่วไป Monday July 28, 2014 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหาเทควันโดหญิงทีมชาติไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 – 22 กรกฎาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ (เฉพาะที่ติดตามข่าว) กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,249 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับกรณี “น้องก้อย” รุ่งระวี ขุระสะ นักเทควันโดหญิงทีมชาติไทย ออกมาเผยในโลกสังคมออนไลน์ว่าถูก "โค้ชเช" (ชเว ยองซอก) โค้ชเทควันโดหญิงทีมชาติไทยชาวเกาหลีใต้ ลงโทษเกินกว่าเหตุ ด้วยการทำร้ายร่างกาย กรณีไม่มีความพร้อมในการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตัว ลืมบัตรไอดีการ์ดนักกีฬาและถุงมือ จนเป็นเหตุให้พ่ายแพ้นักเทควันโดเกาหลีใต้ ตกรอบแรก ในการแข่งขันเทควันโด "โคเรีย โอเพ่น 2014" ที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน (เฉพาะที่ติดตามข่าว) ต่อที่มาของปัญหาความวุ่นวายในทีมเทควันโดหญิงทีมชาติไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.33 ระบุว่า เกิดจากการขาดวินัยและความอดทนของนักกีฬา รองลงมา ร้อยละ 26.38 ระบุว่า เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างโค้ชกับนักกีฬา ร้อยละ 11.08 ระบุว่า เกิดจากการลงโทษที่รุนแรงของโค้ช ร้อยละ 10.75 ระบุว่า เกิดจากปัญหาผู้ปกครองนักกีฬาเข้ามายุ่งเกี่ยวการทำหน้าที่ของโค้ช ร้อยละ 2.18 ระบุว่า เกิดจากสาเหตุ อื่น ๆ ได้แก่ เป็นการขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ เกิดจากอารมณ์ชั่วขณะของทั้งฝ่าย นักกีฬายังไม่คุ้นเคยกับโค้ช และอาจเกิดจากการยุยงของบุคคลที่สาม และ ร้อยละ 5.28 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการกลับมาเป็นโค้ชนักกีฬาเทควันโคหญิงทีมชาติไทย ของโค้ชเช (ชเว ยองซอก) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.79 ระบุว่า ควรกลับมาเป็นโค้ชนักกีฬาเทควันโคทีมชาติไทย รองลงมา ร้อยละ 5.68 ระบุว่า ไม่ควรกลับมาเป็นโค้ชนักกีฬาเทควันโคทีมชาติไทย ร้อยละ 3.53 ขึ้นอยู่กับตัวโค้ช เช และการสอบสวนของสมาคมฯ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการเป็นนักกีฬาเทควันโดหญิงทีมชาติไทยต่อไป ของน้องก้อย (รุ่งระวี ขุระสะ) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.09 ระบุว่า ควรเป็นนักกีฬาเทควันโดหญิงทีมชาติไทยต่อไป รองลงมา ร้อยละ 27.06 ระบุว่า ไม่ควรเป็นนักกีฬาเทควันโดหญิงทีมชาติไทยต่อไป ร้อยละ 1.36 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับการปรับปรุงตัวของนักกีฬา หากมีการพัฒนาและปรับปรุงวินัยตนเองให้ดีขึ้น ก็ควรที่จะเป็นนักกีฬาเทควันโดหญิงทีมชาติไทยต่อไป ร้อยละ 8.49 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ ท้ายสุด ความคิดเห็นของประชาชนต่อปัจจัยที่ทำให้นักกีฬาไทยจะได้รับเหรียญทองหรือประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 25.91 ระบุว่า เป็นความมีวินัย ความขยัน ความอดทน และความมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมของนักกีฬา รองลงมา ร้อยละ 20.92 ระบุว่า เป็นความสามารถของโค้ชและทีมงาน ร้อยละ 15.04 ระบุว่า เป็นความสามารถเฉพาะตัวของนักกีฬา ร้อยละ 10.29 ระบุว่า เป็นการทำงานเป็นทีมของนักกีฬา ร้อยละ 9.79 ระบุว่า เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน ร้อยละ 8.79 ระบุว่า เป็นความสามารถและการสนับสนุนของสมาคมกีฬา ร้อยละ 8.77 ระบุว่า เป็นสภาพร่างกายของนักกีฬา ร้อยละ 0.31 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ การเคารพกฎกติกามารยาท ความมีน้ำใจของนักกีฬา การเคารพและเชื่อฟังครูผู้ฝึก การไม่ใช้เส้นสาย และความเข้ากันได้ระหว่าง ตัวนักกีฬา โค้ช และทีมงาน รวมไปถึง กำลังใจจากครอบครัว กองเชียร์ และเงินรางวัลตอบแทน ร้อยละ 0.18 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 19.78 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 20.18 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 20.10 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 19.94 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ร้อยละ 54.28 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 45.56 เป็นเพศหญิง และ ร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 9.13มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 36.99 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 43.80 มีอายุ 40 – 59 ปี และ ร้อยละ 10.09 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.92 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.68 นับถือศาสนาอิสลาม และ ร้อยละ 0.40 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 31.79 สถานภาพโสด ร้อยละ 66.21 สถานภาพสมรสแล้ว และร้อยละ 2.00 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 17.69 ระบุว่าจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.90 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.97 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 34.67 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.76 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่าง ร้อยละ 15.05 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 19.70 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 25.14 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 10.01 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 12.17 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 13.21 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ร้อยละ 4.72 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 15.29 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 14.97 มีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 35.55 มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.97 มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.41 มีรายได้ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.81 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 6.00 ไม่ระบุรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ