ทำไมคนไทยที่ไปเปิดบัญชีธนาคารต้องกรอกแบบฟอร์มว่า “เป็นพลเมืองอเมริกันหรือไม่” ?

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 8, 2014 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--ธนาคารกรุงเทพ 1. ความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ. 2553 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อ “ Hiring Incentive to Restore Employment Act of 2010” เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานอันสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องมาหลายปี ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลังในการออกกฎหมายมาอีกฉบับหนึ่งชื่อ “ Foreign Account Tax Compliance Act.” (FATCA) กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะตามเก็บภาษีจากคนอเมริกันที่มีรายได้นอกประเทศ แต่ไม่เปิดเผยให้รัฐบาลทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกานั้น คนอเมริกันที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกประเทศจะต้องเสียภาษีเงินได้ไม่ว่าเงินนั้นจะได้รับจากที่ใดก็ตาม คนอเมริกันในที่นี้รวมถึงคนชาติใดก็ตามที่มีกรีนการ์ดด้วย คนอเมริกันที่อยู่นอกประเทศหรือคนชาติอื่นที่มีกรีนการ์ดนั้น หากไม่ต้องการเสียภาษีต้องสละสัญชาติอเมริกัน หรือคืนกรีนการ์ดนั้นไป 2. สาระสำคัญของ FATCA คืออะไร กฎหมาย FATCA กำหนดว่าสถาบันการเงินในต่างประเทศทุกแห่ง จะต้องแจ้งความจำนงต่อสรรพากรอเมริกันว่าจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและรายงานสถานะการเงินของบุคคลอเมริกันต่อสรรพากรอเมริกัน สถาบันการเงินใดที่ไม่แจ้งความจำนงดังกล่าว ถือว่าไม่ให้ความร่วมมือ เมื่อมีการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะดำเนินการทางตรงหรือทางอ้อม จะถูกหักเงินได้ร้อยละ 30 ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมด นั้น คำว่าสถาบันการเงินในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะธนาคารเท่านั้น แต่รวมไปถึงสถาบันการเงินทุกประเภท เช่น บริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนต่างๆ ซึ่งคนอเมริกันสามารถลงทุน หรือถือหุ้นในบริษัทนอกประเทศได้ เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาใหม่ๆ คนทั่วไปเข้าใจว่าคงจะมีผลกระทบเฉพาะประเทศที่เป็นศูนย์กลาง ทางการเงินเท่านั้น เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นต้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งการเงินที่สำคัญ มีนักลงทุนต่างชาติไปลงทุนในตราสารต่างๆ กันมาก อย่างไรก็ตาม ต่อมา มีการประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับ FATCA จึงได้มีความตระหนักกันว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยกเว้นบางประเทศที่ไม่ทำธุรกรรมกับประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เช่น เกาหลีเหนือ และ อิหร่าน 3. ประเทศสหรัฐอเมริกาอาศัยอำนาจอะไรจึงบังคับประเทศอื่นๆ ได้? คงปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลเป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นๆ แต่รัฐบาลสหรัฐก็โต้ว่า เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินต่างๆ ในการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของคนอเมริกันเท่านั้น หากสถาบันการเงินใดเลือกที่จะไม่ให้ความร่วมมือก็สามารถทำได้แต่ถ้ามีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ก็จะต้องถูกหักเงินได้ร้อยละ 30 ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมด คงไม่ต้องอธิบายว่าคนในชาติต่างๆ มีความรู้สึกอย่างไรต่อกฎหมายฉบับนี้ แต่ถ้าถามว่ามีทางเลือกหรือไม่ คำตอบคือไม่มี เพราะไม่มีสถาบันการเงินใดในโลกนี้ที่ไม่ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงจะไม่ทำธุรกรรมโดยตรงก็โดยทางอ้อม ซึ่งก็จะต้องถูกหักเงินได้ร้อยละ 30 ที่ว่านี้ แม้ FATCA มุ่งจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้การขอข้อมูลเพื่อเก็บภาษีจากสินทรัพย์ชาวอเมริกันในต่างประเทศ แต่วัตถุประสงค์เช่นว่านี้ กำลังจะกลายเป็นแนวปฎิบัติของหลายประเทศ เพื่อสร้างกลไกป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีโดยชนชาติของตน โอกาสที่ FATCA จะกลายเป็นกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน จึงมีอยู่สูง และหากพิจารณาตัววัตถุประสงค์คงยากที่จะปฎิเสธว่าในที่สุดแล้ว หลายประเทศ คงให้ความสนใจแนวทางนี้และดำเนินการเช่นเดียวกัน สถาบันการเงินจึงกลายเป็นกลไกสำคัญ ผลกระทบที่เกิดกับลูกค้า จึงหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่นเดียวกับการต้องมีข้อมูลเพื่อรู้จักตัวตนของลูกค้า ในกรณีของกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน 4. ทำไมคนไทยที่มาเปิดบัญชีกับธนาคารจึงต้องกรอกข้อมูลแสดงฐานะว่าเป็นบุคคลอเมริกันหรือไม่? สิ่งที่สถาบันการเงินจะต้องทำก็คือต้องตรวจสอบว่าลูกค้าที่มาทำธุรกรรมนั้นเป็นบุคคลอเมริกันหรือไม่ และ คำว่า “บุคคลอเมริกัน” นี้ ไม่หมายเฉพาะคนสัญชาติอเมริกันที่ถือพาสปอร์ตอเมริกันเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนที่ถือ กรีนการ์ดด้วย เมื่อสถาบันการเงินพบข้อมูลบ่งชี้ว่าลูกค้านั้นเป็นบุคคลอเมริกัน และมีบัญชีเงินฝากสูงกว่า ห้าหมื่นดอลล่าร์ก็จะต้องรายงานให้สรรพากรอเมริกันทราบ คนไทยที่กรอกข้อมูลให้แก่สถาบันการเงินนั้น เกือบทั้งหมดก็คงไม่อยู่ในข่ายที่สถาบันการเงินต้องรายงานเพราะไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นคนอเมริกัน เรื่องก็จะจบแค่นั้น มิใช่ถูกส่งข้อมูลไปหมดทุกราย สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ธนาคาร แต่สถาบันการเงินอื่น เช่น บริษัทประกันชีวิต บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนฯลฯ ก็จะต้องขอความร่วมมือจากลูกค้าให้ กรอกข้อมูลเช่นเดียวกันนี้ทั้งสิ้น ในกรณี FATCA บทบาทที่สำคัญของสมาคมธนาคารไทย คือ การสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด จัดทำมาตรฐานการขอข้อมูลจากลูกค้าในลักษณะเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน และลดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการให้มากที่สุด อันเป็นที่มาของการทำประชาสัมพันธ์ เพื่อชี้แจงข้อมูล เหตุผล และความจำเป็นของการที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้เลือกที่จะแสดงเจตจำนงแก่ทางสหรัฐอเมริกา เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการทางภาษีหัก ณ ที่จ่าย การประชาสัมพันธ์ในนามของสมาคมธนาคารไทย ก็เพื่อให้สาธารณชนและผู้ใช้บริการธนาคารทุกรายได้ทราบ ซึ่งสมาคมธนาคารต่างชาติ และองค์กรของสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย และ ธุรกิจประกันชีวิต ก็ดำเนินการเช่นเดียวกัน 5. ทำไมประเทศไทยต้องยินยอมให้ฝ่ายเดียว? สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกายินยอมส่งข้อมูลให้เราบ้างหรือไม่? เมื่อกฎหมาย FATCA ออกมาใหม่ๆ สถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลกมีความเดือดร้อนมากเพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะเจรจาต่อรองอะไรได้ ภาระที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะมีค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลในการตรวจสอบข้อมูลเท่านั้น แต่จะต้องเผชิญปัญหาการขอความยินยอมจากลูกค้า ประการสำคัญคือ กฎหมายไม่อนุญาตให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลของลูกค้าให้บุคคลที่สามได้ ดังนั้นจึงได้ร้องเรียนต่อรัฐบาลของตนให้เป็นผู้เจรจากับสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐต่อรัฐ เมื่อการเจรจาดำเนินไป รัฐบาลต่างๆ ก็เห็นว่าในเมื่อจำเป็นต้องให้ความร่วมมือ ก็ควรตั้งเงื่อนไขให้สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาส่งรายงานเช่นเดียวกันนี้กลับมาให้เป็นการแลกเปลี่ยนบ้าง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป ซึ่งก็มีปัญหาคนไปเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรมในต่างประเทศโดยไม่แจ้งรายได้ให้รัฐบาลของตนทราบ หากรัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้อีกมาก ในที่สุดประเทศส่วนใหญ่ก็มี ข้อยุติว่า จะทำข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกาในลักษณะรัฐต่อรัฐ (Intergovernmental Agreement หรือ IGA) โดยที่สถาบันการเงินต่างๆ ไม่ต้องไปแสดงความจำนงกับสรรพากรสหรัฐอเมริกาเองแต่ให้จัดส่งข้อมูลที่จะต้องรายงานนั้นต่อกรมสรรพากรภายในประเทศของตน เพื่อให้กรมสรรพากรเป็นผู้ส่งข้อมูลให้แก่สรรพากรสหรัฐอเมริกา อีกทอดหนึ่ง ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลก็ใด้ให้ความสำคัญ และช่วยเหลือสถาบันการเงินไทย โดยการเจรจาเพื่อเข้าทำความตกลง IGA กับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน และบรรลุข้อตกลงจนไปถึงขั้นตอนที่จะต้องออกกฎหมายภายใน เพื่อให้การปฎิบัติตาม FATCA เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาล และการปฎิบัติตามของสถาบันการเงินในประเทศไทย ทั้งหมด จะเป็นไปตามกฎหมายภายในของประเทศไทย ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ณ ขณะนี้ ยังมิได้มีการรายงานข้อมูลใดๆ ไปยังสหรัฐอเมริกา และหากขั้นตอนการออกกฎหมายภายในดำเนินการเรียบร้อย ก็จะเป็นการรายงานข้อมูลไปยังหน่วยงานภาษีอากรของประเทศไทย เพื่อการส่งต่อไปยังหน่วยงานภาษีอากรของสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีระหว่างรัฐบาล การทำความตกลงแบบ IGA นี้ มี 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 เป็นแบบส่งรายงานผ่านหน่วยงานภาษีอากรหรือสรรพากร ซึ่งแบบที่ 1 นี้ มีรูปแบบเพิ่มเติมให้เป็นต่างตอบแทน ได้ด้วย คือ เมื่อสรรพากร ในประเทศ ก. ส่งข้อมูลให้สหรัฐอเมริกาแล้ว สรรพากรสหรัฐอเมริกาก็จะต้องส่งข้อมูลของบุคคลของประเทศ ก. ซึ่งอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศ ก. ด้วย ส่วนข้อตกลงประเภทที่ 2 คือ เป็นการส่งรายงานให้แก่หน่วยงานภาษีอากรของสหรัฐอเมริกาโดยตรง ซึ่งกรณีนี้ จะมีฝ่ายเดียว ไม่ต้องการข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน ( ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2557) มีประเทศที่ทำข้อตกลงหรือเจรจาจนใกล้บรรลุข้อตกลง IGA กับสหรัฐอเมริกา แล้ว รวม 101 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นข้อตกลงประเภทที่ 1 เพื่อส่งข้อมูลผ่านหน่วยงานภาษีอากรของแต่ละประเทศ 88 ประเทศ เป็นประเภทที่ 2 คือ ส่งตรงให้กับหน่วยงานภาษีอากรของสหรัฐอเมริกา 13 ประเทศ ในกลุ่ม 88 ประเทศ ส่วนใหญ่จะเลือกใช้การเจรจาเพื่อส่งข้อมูลแบบต่างตอบแทนคือ ขอให้สหรัฐอเมริกา ส่งข้อมูลของบุคคลสัญชาติประเทศคู่เจรจาที่มีในสหรัฐอเมริกาให้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสหรัฐอเมริกา มีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ต้องมีการเจรจาในรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มทำข้อตกลงแบบแรก คือได้เจรจาให้สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาจะต้องส่งข้อมูลมาให้รัฐบาลไทยด้วยเป็นการแลกเปลี่ยนกัน น่าสังเกตว่าประเทศที่ทำความตกลงในกลุ่ม 88 รายรวมประเทศใหญ่ เช่น จีน อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย เยอรมันนี ฝรั่งเศส เมกซิโก ฯลฯ เมื่อมีการทำความตกลงกันในลักษณะต่างตอบแทน สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาเองกลับเดือดร้อนกว่าประเทศอื่นๆ เพราะจะต้องจัดส่งรายงานให้ประเทศต่างๆ ร่วม 100 ประเทศ ในระยะแรกๆ ก็มีการรวมตัวกันผ่าน lobbyists เพื่อหาทางล้มกฎหมายฉบับนี้ แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องยอมเพราะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองเป็นผู้ก่อเรื่อง หากจะยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ก็จะเสียหน้า และหากจะ ไม่ยอมให้ความร่วมมือแก่ประเทศอื่นบ้างก็หาเหตุผลที่จะปฏิเสธไม่ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การเผชิญปัญหาด้วยความรอบคอบเพื่อบรรเทากระแสที่รุนแรงคงจะเป็นหนทางเดียวที่เหมาะสม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ