“ราชพฤกษ์ 2549” พืชสวนโลกเทิดพระเกียรติฯ กับ “มหัศจรรย์พันธุ์ไม้กว่า 2.5 ล้านต้น”

ข่าวทั่วไป Wednesday August 17, 2005 12:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์นานที่สุดในโลก และทรงเจริญพระชนม์มายุครบ 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลจึงกำหนดจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเทิดพระเกียรติฯขึ้น เพื่อร่วมเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญนี้ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดงาน ภายใต้ชื่อ “ราชพฤกษ์ 2549” โดยได้รับการรับรองจากสมาคมพืชสวนโลก (Association of Horticulture Producers, AIPH) ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดงานระดับ A1* ในรูปแบบเดียวกับงาน World Expo หรือมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ถือเป็นการจัดงานระดับโลกครั้งแรกของประเทศไทย
“ราชพฤกษ์” คือ แปลว่า ต้นไม้ของพระราชา และเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย ซึ่งนอกจากสีเหลืองของดอกราชพฤกษ์จะสื่อถึงพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นสีแห่งวันพระราชสมภพ ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของงานที่ต้องการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่สำคัญอย่างมหกรรมพืชสวนโลกเทิดพระเกียรติในครั้งนี้ โดยมีแนวคิดในการจัดงานคือ “เพื่อนำความรักสู่มนุษยชาติ (To Express The Love For Humanity)” ภายใต้หลักการที่ว่า ต้นไม้ “ให้คุณประโยชน์” แก่มนุษย์ตลอดช่วงอายุของต้นไม้ เริ่มจาก เมล็ด — ต้นอ่อน — ใบ — ดอก — ผล รวมทั้งในแง่ของคุณค่าของต้นไม้ที่มีต่อการดำรงชีพของมนุษย์ วิถีชีวิตที่ผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นปัจจัย 4 ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค “การให้” ของต้นไม้ไม่ผิดเพี้ยนไปจาก “ความรัก” ที่มีต่อมนุษย์ และมนุษย์ควรตอบแทนด้วยการคืน “ความรัก” และสำนึกในคุณค่าของต้นไม้ด้วยการ “รักษ์ หรือรักษา” ต้นไม้ในทุกวิถีทางที่พึงกระทำ เพื่อบำรุงรักษา และขยายพันธุ์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ให้ก่อเกิดคุณค่าอย่างสูงสุด เพื่อการผูกพัน และดำรงอยู่อย่างยั่งยืนถาวร
งาน “ราชพฤกษ์ 2549” มีการออกแบบวางผังอย่างพิถีพิถันเพื่อสื่อถึงการเทิดทูนความรักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีให้แก่พสกนิกรชาวไทย ขณะเดียวกันก็แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยเปรียบน้ำพระทัยของในหลวงนั้นประดุจดั่งต้นไม้ใหญ่ที่แผ่ขยายกิ่งก้านให้ร่มเงา และความร่มเย็นแก่ชาวไทยทั่วหล้าที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร พระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ทรงให้ความรักแก่ปวงประชา ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ด้วยพระวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้า ด้วยความเหน็ดเหนื่อยทั้งพระวรกาย และพระสติปัญญาเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนผ่านโครงการต่างๆ ตามแนวพระราชดำริ โดย งาน “ราชพฤกษ์ 2549” มีรูปแบบการจัดงาน 3 ส่วนคือ สวนเทิดพระเกียรติ (Gardens for the King) เป็นการจัดสวนเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันประกอบด้วย นิทรรศการพืชสวนนานาชาติเทิดพระเกียรติ (International Garden) ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดแสดงสวนของประเทศต่างๆ ในนามของรัฐบาล ประมุข และประชาชนของประเทศนั้นๆ เพื่อร่วมกับประชาชนชาวไทยในการเฉลิมฉลอง และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การจัดสวนของแต่ละประเทศแสดงถึงความงดงามทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองพระเทศ
สวนเทิดพระเกียรติประเภทองค์กร (Corporate Garden) คือ สวนเทิดพระเกียรติจากองค์กรต่างๆในประเทศ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 80 แปลง เป็นการนำทฤษฎีการเกษตรของในหลวง มาเป็นแนวคิดการจัดสวน อาทิ ทฤษฎีหญ้าแฝกรักษาการยึดตัวของดิน ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ทฤษฎีการเพิ่มอากาศให้น้ำด้วยกังหันชัยพัฒนา ทฤษฎีการจัดการเรื่องน้ำและดิน และทฤษฎีการเกษตรแบบพอเพียง เป็นต้น เพื่อให้สวนที่จัดขึ้นเป็นแหล่งความรู้ให้กับเกษตรกร และประชาชนชาวไทย ได้น้อมนำทฤษฎีในหลวงไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สวนพันธุ์ไม้เขตร้อน (Royal Tropical Garden) เป็นพื้นที่จัดแสดงพันธุ์ไม้เขตร้อนที่มีความหลากหลาย และใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนพันธุ์ไม้มากกว่า 2,200 ชนิดรวมแล้วกว่า 2.5 ล้านต้นมาจัดแสดง เช่น ไม้ผล ผัก ไม้ทะเลทราย ไม้ในวรรณคดี ไม้พุทธประวัติ ไม้ในร่ม ไม้เลื้อย ไม้สะสม (กล้วยไม้, โป้ยเซียน, โกสล, บอนไซ เป็นต้น) นอกจากนี้ สวนพันธุ์ไม้เขตร้อนยังเป็นพื้นที่จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นไทยในการแสดงสวนพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของแต่ละภาคของประเทศ ตลอดจนไม้มงคล และไม้ประจำจังหวัดต่างๆ ที่สะท้อนความเป็นชุมชนบนวิถีความเป็นไทย เพื่อสื่อถึงภูมิปัญญา และการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามภูมิภาคนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี งานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ ตลอดจนการละเล่นไทย
ส่วนสุดท้ายคือ ส่วนกิจกรรมกลาง (Royal Plaza) คือพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นที่สุดของงานซึ่งเป็นที่ตั้งของ หอคำหลวง (Royal Pavilion) สัญลักษณ์ที่แสดงถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นศูนย์กลางจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงเป็นสถาบันสูงสุดที่คนไทยเทิดทูนเคารพรัก ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาที่สง่างาม ประกอบด้วย 2 ชั้น ตั้งอยู่บนเนินดินที่นำสายตาด้วยทางเดินหลัก หรือ “ราชพระบาท” ที่มีความกว้างใหญ่ขนาบด้วยต้นราชพฤกษ์ตลอดสองข้างทาง “หอคำหลวง” นี้ใช้ในการจัดแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยชั้นบนของอาคารเป็นหอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีการบอกเล่าเรื่องราวของพระราชกรณียกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาด้านต่างๆ ผ่านจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนา ตรงกลางของโถงเป็นที่ตั้งของต้นโพธิ์ทอง เพื่อแสดงถึงพระบารมีของพระองค์ และพระมหากรุณาธิคุณในการให้ความร่มเย็นแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหย่อมหญ้า ส่วนชั้นล่างเป็นส่วนที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการส่วนพระองค์ต่างๆ
นอกจากนี้ยังมี อาคารจัดนิทรรศการหมุนเวียน และการประกวด (Grand Amphitheater) ซึ่งมีการจัดงานรวมทั้งสิ้น 14 สัปดาห์ โดยจะมีการจัดแสดงสัปดาห์ละ 1 ประเภท อาทิ สัปดาห์กล้วยไม้ สัปดาห์ไม้น้ำ สัปดาห์ผัก และผลไม้เขตร้อน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีส่วนของการจัดจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะสินค้า “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)” และ “กาดมั่ว” ซึ่งเป็นรูปแบบตลาดพื้นเมืองทางเหนือโดยเปิดให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถจำหน่ายสินค้า ซึ่งจะต้องผ่านการคัดเลือกทั้งในเชิงคุณภาพ ราคารวมถึงมาตรฐานภาพลักษณ์ระดับสากล ภายในงานยังมีกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ งานรื่นเริง ไม่ว่าจะเป็น ดนตรีในสวน การแสดงพื้นบ้าน (Street Performance) ขบวนพาเหรด การแสดงกลางแจ้ง จากทั่วทุกภาคของประเทศ และนานาประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานตลอด 92 วันของการจัดงานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน
การเป็นเจ้าภาพการจัดงานของประเทศไทยในครั้งนี้ยังเป็นการเชิดชูเกษตรกร และชาวพืชสวนไทย ที่เป็นกลไกหลักในระบบพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งแสดงถึงศักยภาพที่โดดเด่นด้านเกษตรกรรม ที่มีการพัฒนา และคิดค้นเทคโนโลยีมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 700 ปี อีกทั้งยังส่งเสริมความรู้ และขยายธุรกิจการส่งออก ให้นักธุรกิจชาวต่างประเทศได้รู้จักสินค้าพืชสวนไทยมีความเชื่อมั่นในสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้มีการสั่งซื้อ และส่งออกสินค้าของเกษตรกรไทยได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกนับล้านที่มาเข้าชมงาน
งาน “ราชพฤกษ์ 2549” จึงเป็นการเริ่มต้นของความสำเร็จในระดับนานาชาติ อันจะเป็นเวทีผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพืชสวนเขตร้อนของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ งานมหกรรมพืชสวนโลกเทิดพระเกียรติฯ “ราชพฤกษ์ 2549 (Royal Flora Ratchaphruek 2006)” กำหนดจัดอย่างยิ่งใหญ่บนเนื้อที่ 470 ไร่ ณ สถาบันวิจัย และพัฒนาเกษตร ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 — 31 มกราคม 2550 รวมทั้งสิ้น 92 วัน
หมายเหตุ:
สมาคมพืชสวนโลก (AIPH) คือ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศทำหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์กรผู้ผลิตพืชสวนทั่วไป ก่อตั้งที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2491 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการค้า และประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพืชสวน และไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงการให้การบริการด้านภูมิสถาปัตย์ในระดับนานาชาติ การค้าเสรีสำหรับพืชพรรณไม้ดอกไม้ประดับ นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักขององค์กรภายใต้การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ โดยการจัดประชุมประจำปี และการจัดสัมมนาในหัวข้อต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ และให้การรับรองการจัดงาน มหกรรมพืชสวนโลก ในประเทศต่างๆอีกด้วย
มหกรรมพืชสวนโลกเทิดพระเกียรติ “ราชพฤกษ์ 2549” จัดโดย
รัฐบาลไทย ภายใต้การดูแลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สนับสนุนโดย
สมาคมพืชสวนโลก (AIPH)
สมาพันธ์ดอกไม้โลก (World Flower Council-WFS)
สมาคมพืชสวนนานาชาติ (International Society for Horticultural Science-ISHS)
*AI คือการจัดงานระดับโลก มาตรฐานเดียวกับ Expo ประเภท Specialized Expo หรือ Universal Expo
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
คุณศริญญา แสนมีมา โทร. 0-2204-8218 หรือ 01-8051498
คุณรสวันต์ ดวงสร้อยทอง โทร. 0-2204-8224 หรือ 09-6656819
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ