ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 4/2557 อยู่ที่ 120.4 เศรษฐกิจเขตเมืองจะแผ่ว แต่เศรษฐกิจชนบทในพื้นที่ปลูกยางน้อยจะคึกคัก

ข่าวทั่วไป Tuesday October 7, 2014 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 4/2557” ผลสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 4/2557 อยู่ที่ 120.4 ลดลงจากไตรมาสที่ 3 เล็กน้อย โดยกลุ่มคนเมืองมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง แต่คนชนบทกลับมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเนื่องจากจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตและมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละพันบาท และพบว่ากลุ่มจังหวัด จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ (กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์) ความเชื่อมั่นสูงที่สุดเนื่องจากทำการเกษตรที่ไม่เน้นยางพารา และการกลับมาของนักศึกษาจากปิดเทอมยาว ขณะที่กลุ่มจังหวัด จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และเลย (กลุ่มสบายดี) ซึ่งปลูกยางพารามาก ความเชื่อมั่นแผ่วลงแรงจากราคายางพาราตกต่ำ ดังนั้นปัญหาราคายางพาราตกต่ำควรได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วนและตรงจุด ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและระดับจังหวัดในอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า เพื่อประเมินสภาวะเศรษฐกิจและคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 4/2557 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,076 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด เมื่อสอบถามความเห็นของชาวอีสานในอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า ต่อภาวะเศรษฐกิจและการค้าของจังหวัดจะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 61.6 เห็นว่าเศรษฐกิจและการค้าของจังหวัดจะยังคงทรงตัว รองลงมาร้อยละ 28.8 เห็นว่าเศรษฐกิจและการค้าจะดีขึ้น มีเพียงร้อยละ 9.6 ที่เห็นว่าจะแย่ลง เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ในอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า รายได้ต่อเดือนจากแหล่งต่าง ๆ ของครอบครัวท่านจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 72.6 เห็นว่ารายได้ของครอบครัวจะยังเท่า ๆ เดิม รองลงมาร้อยละ 23.8 เห็นว่าจะเพิ่มขึ้น มีเพียงร้อยละ 3.6 ที่เห็นว่ารายได้ต่อเดือนจากแหล่งต่าง ๆ ของครอบครัวจะลดลง ในส่วนประเด็นของการหมุนเงิน/สภาพคล่องการเงินของครอบครัวในอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับปัจจุบันจะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 67.7 เห็นว่าการหมุนเงิน/สภาพคล่องการเงินของครอบครัวจะยังเท่า ๆ เดิม รองลงมาร้อยละ 27.1 เห็นว่าจะดีขึ้น มีเพียงร้อยละ 5.2 เห็นว่า จะแย่ลง เมื่อนำข้อมูลมาคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 4/2557 พบว่าอยู่ที่ระดับ 120.4 ซึ่งแผ่วลงจาก 122.6 เมื่อเทียบกับผลสำรวจในไตรมาสที่ 3/2557 เล็กน้อย ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามเขตที่อยู่อาศัยระหว่างเขตเมือง และเขตชนบท พบว่าในเขตเมืองมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 117.4 ซึ่งลดลงจาก 124.5 ในการสำรวจครั้งที่แล้วพอสมควร เนื่องจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจและการค้าขายในจังหวัดยังฟื้นตัวได้ไม่เร็ว ขณะที่ในเขตชนบทมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 123.5 ซึ่งเพิ่มจาก 118.9 ในการสำรวจครั้งที่แล้วพอสมควร เนื่องจากไตรมาส 4 จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรและข่าวมาตรการจ่ายเงินช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เมื่อจำแนกตามการบริหารงานแบบบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด พบว่า กลุ่มจังหวัด อีสานตอนกลางเขต 12 ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ (หรือกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์) มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าสูงสุด โดยอยู่ที่ระดับ 128.9 ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจาก 121.9 เมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจเขตชนบทจะกลับมาคึกคักในไตรมาส 4 และการกลับมาของนักศึกษาหลังจากปิดเทอมยาวกว่า 5 เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดกลุ่มเดียวที่มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างเขต 13 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีษะเกษ และยโสธร มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 123.5 ซึ่งเท่ากับไตรมาสที่แล้ว ตามมาด้วย กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนเขต 11 ได้แก่จังหวัด สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร (หรือกลุ่มจังหวัดสนุก) มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 122.0 ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 144.9 ในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากราคายางตกต่ำ กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างเขต 14 ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 116.6 ลดลงเล็กน้อยจาก 118.3 เมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสก่อน ส่วนกลุ่มจังหวัดกลุ่มอีสานตอนบนเขต 10 ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และเลย (หรือกลุ่มจังหวัดสบายดี) พบว่ามีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำที่สุดติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยอยู่ที่ระดับ 111.5 ลดลงค่อนข้างมากจาก 117.9 เมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสานซึ่งต้องเผชิญกับราคายางที่ตกต่ำ ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 50.8 เพศชาย ร้อยละ 49.2 ส่วนใหญ่อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 32.6 รองลงมา อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 27.2 อายุ 46-55 ปี ร้อยละ 26.1 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 6.6 อายุ 56-60 ปี ร้อยละ 4.0 และอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 3.4 ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 35.3 รองลงมามัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 22.9 ปริญญาตรี ร้อยละ 20.0 มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 14.3 อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 4.7 ปริญญาโทหรือสูงกว่า ร้อยละ 2.7 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 39.3 รองลงมารับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.5 อาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 13.4 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.0 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 9.5 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.3 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 3.6 อื่นๆ ร้อยละ 2.3 ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 42.4 รองลงมามีรายได้อยู่ระหว่าง 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 19.9 รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 16.0 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 13.2 รายได้ 20,001-40,000 ร้อยละ 7.7 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 0.8 หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็น ของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการ จัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รายชื่อคณะผู้วิจัย รศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน ผศ.ดร.ศิริลักษณ์ ศุทธชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลและประมวลผล นางสาวศิริพรรณ ยศปัญญา นายศุภกร ศิริสุนทร นางสาวสงบ เสริมนา นางสาวกมลทิพย์ ศรีหลิ่ง นางสาวกุสุมาวดี คำคอนสาร นางสาวนันท์นภัส คำนำโชค นางสาวปุณิกา สิ่วศรี นางสาวพิชญาภา จันศรี นายพุฒิพงศ์ แสงหอย นางสาวศิรินันท์ บุตรพรม นางสาววิไลวรรณ แปนเมือง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ