โพลล์เผยผลสำรวจความศรัทธาต่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ข่าวทั่วไป Monday October 13, 2014 12:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อภาพลักษณ์ของตำรวจไทยในปัจจุบัน จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,144 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.96 ขณะที่ร้อยละ 49.04 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.38 และร้อยละ 25.61 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปี และ 35 ถึง 44 ปีตามลำดับ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 34.88 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 30.77 เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชน รองลงมาร้อยละ 24.91 เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ สำหรับภาพลักษณ์ที่ดีของตำรวจตามความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่าง 3 อันดับแรก ได้แก่ ดูแลความสงบเรียบร้อย/ความปลอดภัยของประชาชน คิดเป็นร้อยละ 80.24 ต้องทำงานหนักโดยไม่มีวันหยุดพักที่แน่นอน คิดเป็นร้อยละ 78.06 และเสี่ยงอันตรายในการทำงาน คิดเป็นร้อยละ 75.7 ส่วนภาพลักษณ์ของตำรวจที่ควรต้องปรับปรุงตามความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่างสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ รีดไถ/เรียกรับส่วย-สินบนจากประชาชน คิดเป็นร้อยละ 82.43 ตั้งข้อหาโดยไม่เป็นธรรม คิดเป็นร้อยละ 80.33 และไม่รับแจ้งความ/ไม่ให้ความสนใจต่อความเดือดร้อนของประชาชน คิดเป็นร้อยละ 77.97 แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 82.69 เชื่อว่าในปัจจุบันยังคงมีตำรวจดีมากกว่าตำรวจไม่ดี เมื่อทราบข่าวเกี่ยวกับตำรวจที่ทำผิดกฎหมายเสียเอง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 29.2 รู้สึกไม่มีความเชื่อถือตำรวจ รองลงมามีความรู้สึกโกรธ/โมโหคิดเป็นร้อยละ 20.8 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.09 มีความคิดเห็นว่าตำรวจที่กระทำผิดกฎหมายเสียเองควรต้องได้รับโทษมากกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.67 ยังคงให้ความเชื่อมั่นต่อตำรวจไทยในปัจจุบันในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.49 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มรายได้/สวัสดิการให้กับตำรวจชั้นผู้น้อยจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ/กำลังใจในการทำงานได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.58 คิดว่าไม่มีส่วนช่วย และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.93 ไม่แน่ใจ สื่อมวลชนที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือประสานงาน : สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) ได้ที่
แท็ก ศรัทธา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ