เลิก “สุรา” พา “วัว” กลับบ้าน จูงใจให้ตัดเหล้าของชาวนาดี

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2014 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ตีฆ้องร้องป่าว เหล้า เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 และยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชาติ แม้แต่ในพื้นที่ชนบทที่ประชาชนมีรายได้น้อย หลังเสร็จจากภารกิจการงานก็จับกลุ่มกันดื่มเหล้าก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบกันเป็นทอดๆ ทั้งปัญหาครอบครัว ทะเลาะวิวาท เงินไม่พอใช้จ่ายในครัวเรือน สุขภาพเสื่อมโทรม และเกิดอุบัติเหตุต่อร่างกายและทรัพย์สิน บางครั้งรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิต อย่างเช่นเกษตรกรบ้านนาดี ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี คนที่นี่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ มีการรวมกลุ่มกันจนก่อตั้งเป็นสหกรณ์เลี้ยงสัตว์ขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหลังเลิกงาน สมาชิกมักจับกลุ่มดื่มสุรากันทุกวัน เป็นเหตุให้สมาชิกขี้เมาหลายคนเป็นหนี้สหกรณ์ มีปัญหาไม่จ่ายดอกเบี้ยตรงตามเวลาที่กำหนด เมื่อประสบกับปัญหาเช่นนี้ ทางสภาองค์กรชุมชนตำบลนาดี และกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงสัตว์นาดี จึงพยายามหาทางออก จนกระทั่งพบประกาศของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 เชิญชวนเข้าร่วมโครงการเมนูอย่างง่าย จึงมีการพูดคุยกัน แล้วส่งโครงการขอรับทุนชื่อ “โครงการชุมชนบ้านนาดี หมู่ที่ 4 ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยเสนอกิจกรรมเลิกเหล้า ด้วยการสร้างแรงจูงใจในการลดดอกเบี้ยให้แก่สมาชิกกลุ่มที่มีความประสงค์จะลด ละ เลิก เหล้า ปรากฏว่าสมาชิกตอบรับเป็นจำนวนมาก ประเสริฐ ดีปาละ ผู้จัดทำโครงการชุมชนบ้านนาดี หมู่ที่ 4 ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการทำกิจกรรมในเบื้องต้น ได้จัดตั้งคณะทำงาน โดยมีคณะกรรมการของกลุ่มเลี้ยงสัตว์นาดี สภาองค์กรชุมชนตำบลนาดี สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชุมชน เข้าร่วม ต่อมาก็ได้ทำแบบสอบถามถึงพฤติกรรมการดื่มเหล้าของคนในชุมชน จากการสำรวจพบว่าในหมู่บ้านนาดี มีคนที่ไม่ดื่มเหล้าเลยแค่ 10 คนเท่านั้น ส่วนกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ที่มีการรวมกลุ่ม พบพฤติกรรมชัดเจนว่าหลังเลิกงานตอนเย็นจะจับกลุ่มกันกินเหล้าเป็นประจำ บางคนเมามักมีปัญหาครอบครัวทะเลาเบาะแว้งกัน “บางคนก็นำเงินค่ากับข้าวมากินเหล้า ทำให้ครอบครัวไม่มีเงินเก็บ เวลาฉุกเฉินเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลหรือจ่ายค่าเทอมลูกก็ไม่มี แล้วพอมากู้เงินกองทุน ก็ไม่สามารถนำเงินต้นมาคืนหรือจ่ายดอกเบี้ยได้ มีปัญหาพัวพันไปหมด” ประเสริฐ เล่า เมื่อสำรวจจนรู้ปัญหา ว่าเหล้าทำให้เกิดปัญหาทางการเงินและครอบครัว คณะทำงานจึงเริ่มกิจกรรมชักจูงสมาชิกในชุมชนในเลิกเหล้า ด้วยการยื่นข้อเสนอว่าถ้าใคร “งด” เหล้าได้จะให้แม่พันธุ์วัวไปเลี้ยง พอวัวมีลูกก็จะได้กรรมสิทธิ์ลูกวัวไป และได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำด้วย แล้วถ้าใคร “เลิก” เหล้าได้ คือไม่ดื่มเลยก็จะได้ทั้งวัวและดอกเบี้ยเงินก็กู้ที่ต่ำลงมาอีก ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่เก็บดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับคนที่เลิกเหล้าได้ถาวร ประเสริฐ บอกด้วยว่า ขณะนี้มีสมาชิกที่เลิกเหล้า และได้รับสิทธิ์พิเศษด้วยการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แล้ว 20 ราย แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ทำไม่ได้ บางคนเลิกได้ 2 วันก็กลับไปกินใหม่ตามเพื่อนๆ “เมื่อก่อนผมก็เป็นนักดื่มคนหนึ่ง เคยบาดเจ็บเพราะเหล้ามาแล้ว แต่พอมีครอบครัว จึงมาทบทวนดูว่าเดือนละ 1,000-2,000 บาท มันมีค่า ก็เลยตัดสินใจเลิกเหล้าและบุหรี่ พร้อมกัน ผมต้องขอบคุณทาง สสส.ที่มีโครงการแบบบี้เข้ามากระตุ้นให้เกิดการทำงานด้านสุขภาพในชุมชนและกลุ่มเกษตรกรเลี้ยวสัตว์ของเรา เพราะถ้าไม่มีเงินจำนวน 50,000 บาทนี้ ผมก็ไม่สามารถริเริ่มทำโครงการแบบนี้ได้” ประเสริฐ กล่าว ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการมา 1 ปี ทำให้วันนี้ชาวนาดีมีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะขี้เหล้าที่เลิกดื่มได้เด็ดขาด มีครอบครัวเป็นสุขไม่ทะเลากันเหมือนเดิม มีเงินเก็บ และมีสุขภาพดีขึ้น และต่อไปคณะทำงานจะให้เริ่มทำบัญชีครัวเรือน เพราะถ้าใครทำได้ครบ 1 ปี แล้วมาเสนอขอกู้เงินก็จะพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งจากที่ผลประเมินจากการทำงานที่ผ่านมา คณะทำงานพบว่า มีคนอยากเลิกเหล้าจำนวนมาก เพราะอยากได้วัวและเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย “ผมจึงคิดว่าโครงการนี้แม้สิ้นสุดระยะเวลาไปแล้ว แต่ถ้ามีแรงจูงใจไม่ขาด แล้วทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แม้จะไม่มีเงินสนับสนุนโครงการจาก สสส. แล้วก็ตาม” ประเสริฐ ยืนยัน ทางด้าน ประยูร อองกุลนะ กรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า ขบวนการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ที่มีปัญหาเรื่องหล้า-บุหรี่ ต้องทำหลากหลายวิธี นอกจากการใช้โครงการนี้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้แล้ว สสส.ยังมีพี่เลี้ยงมาช่วยทำงาน เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนโครงการถือว่าบรรลุเป้าหมาย แต่ผลลัพท์ที่ได้คือชาวบ้านเกิดการรวมกลุ่มกันและทำกิจกรรมตามที่โครงการวางไว้ แล้วยังมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นอีก มีกระบวนการและวิธีการที่นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน “เราได้เห็นภาพของการทำงาน ได้เห็นการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยกลุ่มผู้เลี้ยงวัวตกลงกัน สร้างกติกาภายในชุมชนว่าสมาชิกต้องเลิกเหล้า แล้วจะให้วัวแม่พันธุ์ไปเลี้ยง ใครเลิกได้จริงก็จะมีรางวัลเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผมคิดว่าเป็นการมองให้เชิงบวก คือส่งเสริมให้คนได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ นี่ก็เป็นมาตรการทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเหมาะสมต่อบริบทของท้องถิ่น” กรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าว การเปิดโอกาสให้ชุมชนแก้ปัญหาของตนเองภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ถือเป็นการพัฒนาคนที่พร้อมจะทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้ก้าวต่อไปอย่างถูกต้อง มั่นคง และยั่งยืน ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วที่บ้านนาดีแห่งนี้
แท็ก ครอบครัว   วัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ