คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เปิดห้องปฏิบัติการวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสมสร้างมืออาชีพ มาตรฐานโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday November 4, 2014 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น ความก้าวหน้าของโลกดิจิตอลและเทคโนโลยีการสื่อสารแบบพกพาเป็นสะพานเชื่อมให้ดนตรี ข่าวสารและบันเทิงวันนี้คลุกเคล้าอยู่ในวิถีชิตของผู้คนทุกเพศทุกวัย ได้ทุกที่และทุกเวลา ทั้งเป็นทูตเผยแพร่เอกลักษณ์ วัฒนธรรมไปจนถึงมีผลต่อผลิตภัณฑ์และเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย จึงมีคำกล่าวว่า ดนตรี ข่าวสารและบันเทิงนั้นเป็นเสมือน”ซอฟท์พาวเวอร์” หรือ อำนาจอันอ่อนนุ่มที่ทรงพลังยิ่งกว่าอำนาจของอาวุธยุทโธปกรณ์เสียอีก ในการสร้างบุคลากรวิศวกรดนตรีป้อนสู่วงการดนตรี ข่าวสารและบันเทิงของไทย และพัฒนายกระดับคุณภาพของวงการดนตรีบ้านเราให้ก้าวไกลและมีคุณภาพยิ่งขึ้น สาขาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล) โดยผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน ประธานหลักสูตรวิศวกรรมดนตรี ร่วมกับคุณเกษมสิน กาญจนชัยภูมิ บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ เป็นประธานงานพิธีเปิดห้องปฏิบัติการบันทึกเสียง และพิธีไหว้ครูดนตริของเหล่านักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม โดยมีผู้มีชื่อเสียงในวงการดนตรี ภาพยนตร์มาร่วมงาน อาทิ พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ดนู ฮันตระกูล, พงศธร กาญจนชัยภูมิ, สุวรรณา วังโสภณ, พล ยนตรรักษ์, ศุภเสกข์ แสนมโน, มร.เบรทท์ เรดิซิช, ผศ.ประภัสสร เลิศอนันต์, บุณย์ชนะ ภู่ระหงษ์, โสฬส ปุณกะบุตร, มร.แดเนียล เชา เป็นต้น ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการสื่อสารดนตรีและบันเทิงในประเทศไทยและเอเซียมีการเจริญเติบโตมากและมีบทบาทด้านสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง คณะวิศวกรรมลาดกระบังได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม (Music Engineering & Multi Media) เป็นปีแรก และในวันนี้ได้ทำพิธีเปิดแล็บวิศวกรรมดนตรีและมัลติมีเดียขึ้น โดยเป็นห้องปฏิบัติการบันทึกเสียง Mahajak Studio ซึ่งเป็น1 ใน 7 ห้องปฏิบัติการที่ก้าวล้ำในระบบการเรียนรู้แบบมุ่งผลลัพธ์ ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ในการผลิตงานด้านบันเทิง ได้แก่ ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เน้นการนำความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ สื่อสารโทรคมนาคม และไอที มาประยุกต์ร่วมกับศิลป์ คือ ดนตรี องค์ประกอบทางแสง สี เสียง กราฟิกและแอนิเมชั่น เข้าด้วยกันด้วยความสนับสนุนร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมดนตรีบันเทิง มหาจักรดีเวลลอปเม้นท์ สยามดนตรียามาฮ่า คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันเอสเออี “ ไชยบัณฑิต พืชผลทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอะคุสติกซาวน์ดีไซน์ มือหนึ่งของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ออกแบบห้องปฎิบัติการแห่งนี้ กล่าวว่า “ ห้อง Mahajak Studio ใช้สำหรับการเรียนการสอนวิศวกรรมดนตรี ขนาดห้องพื้นที่ 70 ตารางเมตร คอนเซ็ปท์ดีไซน์เป็น Minimal เรียบง่ายแต่ให้ประสิทธิผลสูงด้านคุณภาพเสียงมาตรฐานสากล แทนการปะปูดวัสดุโน่นนี่เต็มไปหมด เราใช้การคำนวณและดีไซน์มาช่วย ในเฟสแรกนี้สร้าง 2 ส่วน คือ ห้องคอนโทรล และห้องอัดเสียง ซึ่งต่อขยายสำหรับอัดบันทึกเสียงได้แต่ละเซ็คชั่นโดยเสียงไม่รบกวนกัน เช่น กลองชุดห้องหนึ่ง วงสตริงห้องหนึ่ง นักร้องอีกห้องหนึ่ง รูปทรงห้องออกแบบเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู บางห้องตัดเหลี่ยมตรงมุมห้อง เพื่อช่วยลดผลกระทบจากเสียงสะท้อน เนื่องจากผนังคู่ขนานจะเกิดเสียงสะท้อนได้ง่ายกว่า โครงสร้างห้องก่อด้วยอิฐมวลเบาปิดทับด้วยวัสดุซึมซับเสียง FELT ที่มีความหนาแน่นสูง และไม่ปล่อยสิ่งที่ระคายต่อระบบลมหายใจและสิ่งตกค้างในอากาศสิ่งแวดล้อม ส่วนประตูแทนที่จะใช้ประตูเหล็กแล้วติดขอบยางอย่างสตูดิโอทั่วไปซึ่งนานไปยางจะตาย กันเสียงไม่ได้ เราออกแบบเป็นประตูไม้ เอียงวงกบรับกับเหลี่ยมลาดของประตูพอดีให้เป็นสุญญากาศ ด้านอุปกรณ์สำหรับการบันทึกเสียงใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มิกเซอร์ขนาดใหญ่สำหรับสอนการบันทึกเสียง และมิวสิคคอมพิวเตอร์ ไมโครโฟนพิเศษหลายชนิดที่เหมาะกับการใช้งานภายในสถานที่ซึ่งจะต่างจากประเภทที่ใช้กับการแสดงคอนเสิร์ต “ ดร.ดนู ฮันตระกูล ศิลปินรางวัลศิลปาธร นักประพันธ์เพลง ผู้ก่อตั้งวงไหมไทยที่โด่งดัง กล่าวว่า “ดนตรีนั้นสื่อสารในตัวของมันเอง ออกมาสู่สายตาผู้คนได้นั้นไม่เพียงการแสดง แต่ยังมาในรูปแบบของสื่ออื่นๆ เช่น ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ดนตรีประกอบละคร ดนตรีประกอบการแสดงสดต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยก็มีงานประเภทนี้เกิดขึ้นมากมาย และในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับวิศวกรรมดนตรีนั้นสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาในด้านต่างๆของไทยได้มาก เพราะเรื่องของการผลิตและควบคุมเสียงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือแค่เอาไมค์ไปจ่อแล้วจะได้เสียงนั้นๆออกมา แต่เราต้องวางแผนและดีไซน์เป็นอย่างดี ว่าจะสร้างเสียงออกมาในรูปแบบไหน ทั้งเสียงสด เสียงไฟฟ้า หรือเสียงจากเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ จะแสดงออกมาอย่างไร รูปแบบไหน ความคิดของงานแสดงและงานดนตรีนั้นมีความซับซ้อนมาก ซึ่งระบบและความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมดนตรีจะเข้ามาช่วยตอบคำถามและความต้องการที่จะสร้างสรรค์งาน เขาจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้อีกมากมาย อยากจะฝากให้น้องๆต้องขยันคิด ขยันทำ แล้วทุกอย่างจะสำเร็จได้ ไปให้ถึงเป้าหมายที่เราต้องการ” ณวัสน์ ภู่พันธัชสีห์ นักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม กล่าวว่า “ผมรู้สึกชอบและสนใจทางด้านฟิสิกส์และดนตรีอยู่แล้ว ฝันอยากทำงานเกี่ยวกับพวกผลิตเสียงในภาพยนตร์ พอเข้ามาเรียนแล้วทำให้ผมรู้จักดนตรีมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์จากอาจารย์และเพื่อนๆ ชอบมากที่สุดคือ การฝึกหู เพราะทักษะด้านการฟังสำคัญมาก ต้องรู้ว่าเสียงที่เราได้ยินแต่ละตัวนั้นคือตัวโน๊ตอะไร ประทับใจคำพูดหนึ่ง “เห็นทุกอย่างที่ได้ยิน ได้ยินทุกอย่างที่เห็น” รู้สึกว่ามันใช่เลย ผมว่าไม่ยากครับที่ไทยจะทัดเทียมประเทศอื่นๆในด้านวิศวกรรมดนตรีได้ หากเราตั้งใจพัฒนากันจริงจังและมุ่งมั่นไปให้ถึง เมื่อเพิ่มบุคลากรที่มีเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น จะทำตลาดในอาเซียนได้กว้างขึ้น” ปวริศ ชูประเสริฐ หนุ่มนักศึกษา วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ผมแค่เล่นดนตรีอย่างเดียว รู้สึกสะกิดใจมากกับหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม จึงไม่ลังเลเลยที่จะเข้ามาเรียน ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมายทั้งทฤษฎีดนตรี เทคนิคการอ่านตัวโน๊ต ซาวน์เอ็นจิเนียริ่ง ทำให้รู้จักดนตรีลึกซึ้งมากขึ้น อนาคตข้างหน้าผมฝันอยากเป็นคนออกแบบระบบเสียงในโรงหนัง เพราะอยากให้คนที่เข้าไปดูหนังทุกคนมีความสุข ได้รับอรรถรสในการชมเต็มอิ่ม เสียงเป็นสื่อสำคัญยิ่งที่ทำให้หนังสะเทือนอารมณ์ สมจริงยิ่งใหญ่ และประทับใจคนดู วิศวกรรมดนตรีจะช่วยสนองความต้องการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สร้างรายได้มหาศาล ภาพยนตร์ยังเป็นศิลปะและสื่อวัฒนธรรมของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย” อัจฉราพรรณ เคลิ้มวิลัน สาวน้อยนักศึกษา วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม กล่าวว่า “มีความสุขที่ได้เรียนในสิ่งที่รักและทำในสิ่งแปลกใหม่ที่ชอบอีกด้วย วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสมสามารถตอบโจทย์ให้กับตัวเองได้ วิชาที่ชอบที่สุดตอนนี้ คือ ทักษะการเล่นคีย์บอร์ด เมื่อก่อนแค่เล่นดนตรีตามความรู้สึกของเรา แต่พอได้มาเรียนรู้เทคนิคต่างๆมากขึ้น ทำให้เพลงที่เราเล่นออกมานั้นมันสนุกและได้อารมณ์มากขึ้น อนาคตอยากเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดูแลเรื่องเสียง ได้ควบคุมการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ๆ สำหรับประเทศไทยถ้าอยากทัดเทียมประเทศอื่นๆในด้านวิศวกรรมดนตรี ต้องศึกษาวิจัยและหาเป้าหมายที่ชัดเจนก่อนว่าชอบอะไร แนวไหน ไม่ใช่ไปลอกเขามาทั้งหมดอย่างที่ทำกันอยู่ ควรดูประเทศอื่นๆเป็นตัวอย่างแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในแบบฉบับของตนเอง” ภาพที่ คำอธิบายภาพ 1. ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวลาดกระบัง และบุคคลในวงการร่วมแสดงความยินดี 2. ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวลาดกระบัง 3. ดนู ฮันตระกูล ผู้ก่อตั้งวงไหมไทย และศิลปินรางวัลศิลปาธร 4. ณวัสน์ ภู่พันธัชสีห์ หนุ่มน้อยนักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม 5. ปวริศ ชูประเสริฐ นักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม 6. อัจฉราพรรณ เคลิ้มวิลัน นักศึกษาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ