ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. เบทาโกร” ที่ ระดับ “A” และจัดอันดับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาทที่ระดับ “A”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 6, 2014 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และการจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัท ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงราคาสินค้าเกษตรซึ่งมีความผันผวนเช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนความเสี่ยงจากโรคระบาดและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้าของประเทศผู้นำเข้าสินค้าด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะผู้ผลิตรายใหญ่ในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารได้ต่อไป โดยรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจะช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทได้บางส่วน บริษัทเบทาโกรก่อตั้งในปี 2510 โดยกลุ่มตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ ปัจจุบันบริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ณ เดือนมิถุนายน 2557 ตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ถือหุ้นในบริษัททั้งโดยตรงในสัดส่วน 14.33% ของหุ้นทั้งหมดและถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัทแม่คือ บริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด อีก 69.45% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 8 สาย ประกอบด้วย ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจไก่ ธุรกิจสุกร ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเครือภูมิภาค ธุรกิจสุขภาพสัตว์และเทคโนโลยี ธุรกิจต่างประเทศ และธุรกิจอื่น ในปี 2556 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจไก่เป็นสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 37% ของรายได้รวมของบริษัท รองลงมาคือธุรกิจอาหารสัตว์ (36%) และธุรกิจสุกร (17%) รายได้จากการขายภายในประเทศคิดเป็น 87% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2556 ในขณะที่รายได้จากการส่งออกมีสัดส่วน 13% นับตั้งแต่การร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 2523 บริษัทก็ยังคงดำเนินนโยบายการร่วมทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนกับหุ้นส่วนชาวญี่ปุ่น การขยายธุรกิจผ่านการร่วมทุนนอกจากจะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสำหรับการส่งออกแล้วยังเป็นประโยชน์แก่บริษัทในการปรับปรุงการดำเนินงานและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเลื้ยงสุกร SPF (Specific Pathogen Free) ซึ่งเป็นการเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรคและสารตกค้าง ผลสำเร็จจากการร่วมทุนทำให้บริษัทเติบโตโดยลำดับจนเป็นผู้นำในการผลิตเนื้อสุกรคุณภาพสูงในประเทศไทย จากการลดการผลิตของกลุ่มสหฟาร์มส่งผลให้บริษัทเป็นผู้ผลิตไก่รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจไก่และสุกรแบบครบวงจรตั้งแต่อาหารสัตว์ไปจนถึงการแปรรูปเนื้อไก่และสุกรเป็นอาหารสำเร็จรูป การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทมีมาตรฐานในระดับสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ ตลาดส่งออกหลักของบริษัทคือประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป โดยสินค้าที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านทางผู้ร่วมทุนของบริษัท บริษัทให้ความสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และสร้างตราสินค้าเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์พื้นฐานของบริษัทซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์เนื้อชำแหละภายใต้ตราสินค้าของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 15% และ 6% ของยอดขายรวมของบริษัท ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์เนื้อชำแหละภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเป็น 18% และ 24% ในปี 2563 ตามลำดับ สำหรับตลาดในประเทศนั้น บริษัทได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายของตนเองผ่าน “ร้านเบทาโกร” เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและร้านอาหาร โดย ณ เดือนตุลาคม 2557 บริษัทมีร้านเบทาโกร 119 สาขาทั่วประเทศ หลังจากประสบกับภาวะตกต่ำอย่างหนักในปี 2555 เนื่องจากอุปสงค์ส่วนเกินของสัตว์บกและราคากากถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก อุตสาหกรรมไก่และสุกรในประเทศไทยก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2556 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เนื่องมาจากปริมาณความต้องการไก่เพื่อการส่งออกที่เติบโตมากขึ้น กอปรกับภาวะอุปสงค์และอุปทานไก่ในประเทศที่เริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาขายไก่ทั้งส่งออกและภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ราคาสุกรก็ปรับตัวสูงขึ้นจากการลดลงของปริมาณสุกรอันเนื่องมาจากโรคระบาด รายได้ของบริษัทเติบโตเป็น 74,247 ล้านบาทในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น 14.9% จาก 64,632 ล้านบาทในปี 2555 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายก็ฟื้นตัวจากระดับต่ำเพียง 2.3% ในปี 2555 เป็น 6.6% ในปี 2556 ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากระดับที่ต่ำกว่าปกติในปี 2555 ที่ 2,159 ล้านบาท เป็น 5,320 ล้านบาทในปี 2556 บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยรายได้ของบริษัทเท่ากับ 39,508 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของไก่ในตลาดส่งออกและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์เนื้อหมูในประเทศ ปริมาณการส่งออกไก่ของบริษัทเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการเนื้อไก่สดจากต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรปและญี่ปุ่นได้ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทย นอกจากนี้ ราคาไก่ส่งออกก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยระบุว่าราคาไก่ส่งออกเฉลี่ยช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ทั้งนี้ ราคาไก่ส่งออกเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์ที่เน้นมูลค่าเพิ่มของบริษัท ส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์เนื้อหมูของบริษัทนั้นก็เพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตของบริษัทและภาวะโรคระบาดสุกรในประเทศที่ยังคงอยู่ ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ราคาเฉลี่ยสุกรขุนปรับตัวเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาไก่และสุกรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจาหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 6.6% ในปี 2556 เป็น 9.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเท่ากับ 4,270 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เปรียบเทียบกับระดับ 5,656 ล้านบาทในปี 2554 และ 5,320 ล้านบาทในปี 2556 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 บริษัทได้เพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้างเงินทุนด้วยการเพิ่มทุนจำนวน 820 ล้านบาทเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้น ส่งผลให้หนี้สินรวมของบริษัทลดลงจาก 11,991 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 เป็น 10,690 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจาก 51.8% ในปี 2556 มาอยู่ที่ระดับ 45.2% ณ เดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 36.8% ในปี 2556 เป็น 52.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในส่วนที่เหลือของปีจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีโดยได้รับอานิสงส์จากราคาสุกรในประเทศที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงและความต้องการผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยในตลาดส่งออกที่ยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์ที่ไม่ผันผวนมากนัก นอกจากนี้กลุ่มประเทศรัสเซีย เบลารุส และคาซัคสถานได้อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศไทย กอปรกับปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศจีนและการทยอยยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทยของหลายประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ไก่และสุกรจากประเทศไทยมีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการรักษาสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ยังคงเป็นปัจจัยที่ท้าทายของอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะหากสหฟาร์มสามารถเดินกำลังการผลิตได้ตามปกติอีกครั้งภายหลังจากผ่านการอนุมัติแผนปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 12,500 ล้านบาทในช่วงปี 2557-2559 เพื่อขยายกำลังการผลิตทั้งในธุรกิจฟาร์ม โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย โดยบริษัทจะใช้เงินทุนส่วนใหญ่จากเงินสดจากการดำเนินงาน ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในระดับปกติปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับปานกลางในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) (BTG) อันดับเครดิตองค์กร: A อันดับเครดิตตราสารหนี้: BTG14NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A BTG16NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A BTG164A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A BTG18NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A BTG183A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A BTG184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2562 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ