ซีพีเอฟ แนะวิธีเลี้ยงสัตว์ช่วงอากาศเปลี่ยน

ข่าวทั่วไป Friday November 7, 2014 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ซีพีเอฟ ในช่วงปลายปีเช่นนี้ ปกติต้องมีลมหนาวพัดผ่านเข้ามาให้ได้สบายตัวกันแล้ว แต่วันนี้ยังคงเห็นหลายพื้นที่ยังมีฝนตกชุก สลับกับอากาศร้อนในช่วงกลางวัน พอตกเย็นอุณหภูมิกลับลดต่ำลง อากาศเช่นนี้นับว่าเป็นอุปสรรคสำหรับการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่ต้องเร่งหามาตรการรับมือกับปัญหาไว้ก่อนจะสาย วันนี้จึงนำแนะนำดีๆจาก พี่ใหญ่ในวงการปศุสัตว์บ้านเรา อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มาบอกต่อ โดยได้แนะแนวทางการเลี้ยงสัตว์แก่พี่น้องเกษตรกร เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่เฝ้าระวังไว้แต่เนิ่นๆ ยิ่งอากาศอย่างที่ว่ามาด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ป่วยไข้ได้ง่ายๆ น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพสัตว์ บอกว่า อากาศหนาวเย็นที่สลับกับอากาศร้อนจัดและมีฝนมาสำทับภายในวันเดียวอย่างนี้ ย่อมส่งผลโดยตรงให้สัตว์เลี้ยงเกิดความเครียด ก่อให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันโรคลดลง จึงไม่แปลกที่สัตว์มักจะเจ็บป่วยง่ายขึ้นในช่วงนี้ สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ การปรับสภาพในโรงเรือนให้เหมาะสม สำหรับสัตว์กีบคู่ อาทิ โค กระบือ สุกร ช่วงนี้ต้องเฝ้าระวังเรื่องโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคที่มักพบบ่อย คือ โรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) โดยเฉพาะเขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ซึ่งสัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม ไข้สูง ทำให้แม่สุกรแท้งลูก น้ำลายไหลฟูมปาก ต่อมาเกิดเม็ดตุ่มใส มีเม็ดตุ่มที่ปาก-จมูกและกีบเท้า เมื่อสัตว์เจ็บปากจะกินอาหารไม่ได้ เดินกระเผลก กีบหลุด ซูบผอม โดยโรคนี้มาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากสัตว์พาหะนำเชื้อโรค อาทิ นก หนู สุนัข แมว และการเข้าออกของบุคคลภายนอก รวมถึงเชื้อติดมากับรถและอุปกรณ์ขนส่ง ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องระมัดระวังสาเหตุเหล่านี้ โดยอาจป้องกันด้วยการโรยปูนขาว (Calcium carbonate 4%) ที่สามารถทำลายเชื้อไวรัส FMD ได้ที่สำคัญต้องเน้นการให้วัคซีนอย่างเข้มงวด สำหรับสุกรมีอีกโรคที่ควรต้องระวังเป็นพิเศษ คือ โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ที่ก่อความเสียหายให้กับวงการเลี้ยงสุกรมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี2556 ที่ผ่านมา ยิ่งช่วงนี้ที่อากาศเป็นอย่างที่ว่ามาตอนต้น พบว่ามีการระบาดได้ง่ายขึ้น โดยโรคนี้เชื้อสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีการติดต่อถึงคน สุกรที่ติดเชื้อจะแสดงอาการหอบ ไอ มีไข้ ผิวหนังเป็นปื้นแดง กินอาหารน้อย หมดแรง ในสุกรท้องแก่จะพบอาการแท้ง หรือลูกตายแรกคลอด ลูกที่รอดจะอ่อนแอ โตช้า โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสPRRS จึงยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ต้องทำการรักษาตามอาการป่วย โดยให้ยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน และให้สารเกลือแร่-วิตามิน เพื่อบำรุงร่างกายสัตว์ป่วยให้แข็งแรง สิ่งที่เกษตรกรต้องเข้มงวดในการป้องกันโรคพีอาร์อาร์เอส คือการจัดการกับสุกรสาวทดแทนที่ต้องมีการแยกเลี้ยงก่อนนำเข้ารวมฝูงเดิมอย่างน้อย 1 เดือน และต้องจำกัดยานพาหนะและบุคลากรที่จะเข้าภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง หากมีการระบาดของโรคในพื้นที่ใด ควรงดนำสุกรฝูงใหม่เข้ามาเลี้ยง และปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด ด้านการเลี้ยงสัตว์ปีก หมอนรินทร์ บอกว่า ต้องดูแลสุขภาพภายในโรงเรือนให้มีอุณหภูมิเหมาะสมกรณีที่อุณหภูมิต่ำมากอาจต้องเพิ่มผ้าม่านกั้นแนวลมที่โรงเรือน และควรเพิ่มหลอดไฟกก อีกทั้งต้องควบคุมการให้อาหารให้เหมาะสม อาจต้องให้อาหารบ่อยครั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นการกินอาหาร พร้อมเพิ่มวิตามินละลายน้ำให้แม่ไก่ได้ตามสมควร สำหรับการเลี้ยงปลาช่วงอากาศเปลี่ยน อดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการ ผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ผู้คร่ำหวอดในวงการเพาะเลี้ยงปลา บอกว่า ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นจึงมีอุณหภูมิร่างกายเท่ากับสภาพแวดล้อม หากอุณหภูมิน้ำลดต่ำลง จะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของสัตว์น้ำ เพราะระบบเมตาบอลิซึ่มในร่างกายของปลาจะมีความผิดปกติ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันที่จะลดต่ำลงด้วย ทำให้ปลากินอาหารลดลงและอ่อนแอ “สภาวะอากาศในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปลานิลและปลาทับทิม ซึ่งปกติอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาอยู่ที่ประมาณ 26-30 องศาเซลเซียส ขณะที่ปัจจุบันอุณหภูมิในช่วงเช้ากับค่ำอุณหภูมิลดต่ำลง ส่วนสายถึงบ่ายอากาศกลับสูงขึ้น ที่สำคัญแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงปลาบางแห่งปริมาณน้ำก็ลดลงเป็นอย่างมากเนื่องจากปัญหาภาวะแล้ง ทำให้ปลากระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำสายต่างๆ ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น” อดิศร์ อธิบาย การเลี้ยงปลาในช่วงนี้ เกษตรกรจึงต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ หากเลี้ยงในกระชังต้องระวังอย่าปล่อยปลาจนหนาแน่นจนเกินไป ควรปล่อยลูกปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และหมั่นสังเกตการกินอาหารที่อาจลดลงเนื่องจากอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ควรยึดหลักการให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงการให้อาหารช่วงเช้าที่มีอุณหภูมิต่ำ เกษตรกรควรผสมวิตามินซีและสารกระตุ้นภูมิต้านทานในอาหารให้ปลากินสัปดาห์ละ 3 ครั้งเพื่อภูมิต้านทาน ส่วนการเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำ อดิศร์ บอกว่า หากพบปัญหาน้ำแห้งอาจต้องลงเลี้ยงปลาให้เหมาะสมไม่เลี้ยงหนาแน่นจนเกินไป และต้องลากกระชังลงไปในบริเวณน้ำลึกขึ้น หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำแนะนำให้ผสมวิตามินซีในอาหารเพื่อลดความเครียด ควรหมั่นสังเกตการกินอาหารของปลาอย่าให้เหลือมาก อาจแบ่งการให้อาหารเป็น 5-6 มื้อต่อวันเพื่อกระตุ้นการกิน การให้อาหารแต่ละครั้งควรให้ทีละน้อย เท่าที่ปลากินหมดและต้องสังเกตปริมาณอาหารที่เหลือลอยบนผิวน้ำ หากมีปริมาณมาก ควรปรับลดอาหารให้พอเหมาะ นอกจากนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบสุขภาพปลาโดยการสุ่มตรวจพาราไซต์ทุกๆสัปดาห์ นอกจากนี้ อดิศร์ ยังแนะนำการเลี้ยงปลาในรูปแบบบ่อดิน ที่ปัจจุบันถือว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับการเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ และยังแนะนำมิติใหม่ในการผลิตปลาที่ซีพีเอฟค้นคว้าและพัฒนาขึ้น ด้วยนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบ “โปร-ไบโอติก” (Pro-Biotic Farming) ที่ใช้แบคทีเรียที่เป็นมิตรไปจัดการสภาพบ่อ โดยไม่มีการใช้ยาหรือสารปฏิชีวนะใดๆ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ ทำให้ได้ปลาที่เลี้ยงมีสุขภาพดี ได้ผลผลิตปลาเนื้อคุณภาพสูง ทั้งนี้ เกษตรกรควรวัดคุณภาพน้ำเป็นประจำ โดยค่าของแอมโมเนียรวมที่ละลายน้ำไม่ควรเกิน 0.5 ppm. และควรติดตั้งเครื่องให้อากาศและควรเปิดตลอดเวลาโดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อให้น้ำมีการผสมกันตลอดตามแนวลึกของบ่อ ไม่เกิดการแบ่งชั้นของน้ำ และเกิดการผสมของอากาศกับน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรให้มีปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำอยู่ไม่น้อยกว่า 4 ppm. คำแนะนำทั้งหมดนี้คงจะช่วยลดผลกระทบจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้ หากพี่น้องเกษตรกรนำเทคนิควิธีการเหล่านั้นไปปรับใช้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามการเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของเกษตรกรเป็นสำคัญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ