ประชากร 35.8 ล้านคนทั่วโลกยังถูกกดขี่เยี่ยงทาสอยู่[1]

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2014 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ทีคิวพีอาร์ จำนวนผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสทั้งหมดในทวีปเอเชีย[2]มีประมาณ 23.5 ล้านคน หรือ 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสทั้งหมดทั่วโลก ประเทศอินเดียและปากีสถานมีอัตราผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสสูงสุดในทวีปเอเชีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประเทศกัมพูชา มองโกเลีย และประเทศไทยมีอัตราผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสสูงสุด(อันดับ 3 อันดับ 4 และอันดับ 6 ในทวีปเอเชีย) ประเทศจีน อินโดนีเซีย และประเทศไทยเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีจำนวนสัมบูรณ์ของผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสสูงสุด ประเทศเกาหลีเหนือเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าการเป็นทาสสมัยใหม่ถือเป็นความผิดทางอาญา ตามสถิติของดัชนีการค้าทาสสากลประจำปี 2557 วิธีการวัดค่าที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นชี้ให้เห็นถึงว่าจำนวนประชากรทั่วโลกที่ตกอยู่ในการเป็นทาสยุคใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ในปัจจุบันชาย หญิง และเด็กราว 35.8 ล้านคนทั่วโลกตกเป็นทาสสมัยใหม่ สูงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้มากกว่า 20% รูปแบบของการค้าทาสสมัยใหม่ได้แก่ การค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ การสมรสโดยบังคับหรือเพื่อรับใช้ หรือการแสวงประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ ตามข้อมูลของดัชนีการค้าทาสสากล (GSI) ประจำปี 2557 ซึ่งเป็นรายงานโครงการนำร่องที่ตีพิมพ์โดยมูลนิธิ Walk Free Foundation วันนี้ มูลนิธินี้เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษย์สากลที่มีเป้าหมายในการขจัดการค้าทาสสมัยใหม่ให้หมดภายในหนึ่งชั่วอายุคน รายงานพิจารณาสถิติในแง่อัตราของประชากร (เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศที่ถูกกดขี่เยี่ยงทาส) และจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในสภาพเยี่ยงทาสสมัยใหม่ทั้งหมดในแต่ละประเทศ รายงานชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบันประชากรที่อาศัยอยู่ในสภาพเยี่ยงทาสสมัยใหม่กว่า 23.5 ล้านคนอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ตัวเลขนี้เทียบได้กับประชากรเกือบ 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสทั้งหมดทั่วโลก ประเทศที่มีอัตราผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสสูงที่สุดในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย (1.141%) ปากีสถาน (1.130%) และกัมพูชา(1.029%) หากมองเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสสูงสุด ตามมาด้วย มองโกเลีย(0.907%) ประเทศไทย (0.709%) และ บรูไน (0.709%) ประเทศจีนและญี่ปุ่น 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอยู่ในอันดับที่ 19 และ 20 ของทวีปเอเชีย ส่วนประเทศหรือเขตปกครองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีอัตราของการเป็นทาสทาสต่ำสุดในทวีปเอเชียคือ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (0.187%) สิงคโปร์ (0.1%) และไต้หวัน(0.013%)โดยอยู่ในอันดับ 23อันดับ 24 และอันดับ 25 ตามลำดับ มีเพียงสองประเทศในทวีปเอเชียเท่านั้นที่มีสถิติที่ดีกว่าประเทศเหล่านี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (อันดับ 26 และ 27) หากมองในแง่จำนวนสัมบูรณ์ ประเทศจีนมีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในสภาพเยี่ยงทาสสมัยใหม่มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 3,241,400 คน รองลงมาคือ ประเทศอินโดนีเซีย (714,100 คน) ประเทศไทย (475,300 คน) และประเทศเวียดนาม (322,200 คน) หากมองภาพรวมของทวีปเอเชียทั้งทวีป บุคคลหรือบางครั้งครอบครัวทั้งครอบครัวถูกกดขี่เยี่ยงทาสเนื่องจากการขัดหนี้และแรงงานตามพันธะสัญญาในภาคก่อสร้าง เกษตรกรรม การทำอิฐ โรงงานเสื้อผ้า และการผลิต ซึ่งถือเป็นแรงงานฝีมือต่ำในขั้นตอนการผลิตของระบบห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั่วโลก คนเหล่านี้จำนวนมากยังมีความเสี่ยงสูงต่อการกลายเป็นแรงงานบังคับเนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง บางประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากนี้ได้เริ่มลงมือดำเนินขั้นตอนที่สำคัญเพื่อจัดการกับปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับค่าประเมินการตอบโต้ของรัฐบาลต่อปัญหานี้ในอัตราที่เท่าเทียมกับค่าประเมินของประเทศนิวซีแลนด์และไต้หวัน จากทั้งหมด 25 ประเทศที่มีการจัดอันดับในทวีปเอเชีย 24 ประเทศได้ออกกฎหมายที่ระบุว่าบางรูปแบบของการเป็นทาสสมัยใหม่ถือเป็นความผิดทางอาญา ประเทศอินเดียได้มีการปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจังเพื่อ สนับสนุนการจัดให้การเป็นทาสสมัยใหม่ถือเป็นความผิดทางอาญา ส่วนมองโกเลียและเวียดนามลงมติรับรองกฎหมายที่สมบูรณ์ในตัวเองว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ในปี 2555 ประเทศเกาหลีเหนือเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียและในโลกที่ไม่ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าการเป็นทาสสมัยใหม่ถือเป็นความผิดทางอาญา ในขณะที่ดัชนีประเมินว่ามีผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากที่ตัวเลขในรายงานปี 2556 แทนการพิจารณาจำนวนของผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณจากในอดีต ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้เป็นผลมาจากวิธีการรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึง การสำรวจตัวแทนประเทศในบางประเทศที่ประสบปัญหาด้านนี้มากที่สุด นาย Andrew Forrest ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Walk Free Foundation แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการสำรวจว่า "มีการตั้งสมมุติฐานกันว่าการเป็นทาสนั้นเป็นปัญหาในยุคก่อน หรือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยสงครามหรือความยากจนเท่านั้น แต่ผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า การเป็นทาสสมัยใหม่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ และเราทุกคนมีส่วนทำให้เกิดสถานการณ์ที่น่าสลดใจที่สุดนี้ การเป็นทาสสมัยใหม่มีอยู่จริงและก่อให้เกิดความลำเค็ญอย่างรุนแรงต่อเพื่อนร่วมโลกของเรา ก้าวแรกในการขจัดการเป็นทาสให้หมดสิ้นไปคือการวัดอัตราการเป็นทาส และเมื่อเรามีข้อมูลที่สำคัญนี้แล้ว เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ธุรกิจ หรือภาคประชาสังคมจะต้องร่วมมือกันยุติรูปแบบการแสวงประโยชน์ที่ร้ายแรงที่สุดนี้ให้หมดสิ้นไป" สิ่งใหม่ที่เราได้เห็นในดัชนีการค้าทาสสากลประจำปี 2557 คือ การรวมการดำเนินการของรัฐที่เกี่ยวกับการเป็นทาสสมัยใหม่เข้ามาในการสำรวจ นับเป็นครั้งแรกที่ดัชนี GSI เสนอบทวิเคราะห์เรื่องการตอบโต้ของรัฐบนพื้นฐานของเป้าหมาย 5 ประการ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศควรมุ่งบรรลุให้สัมฤทธิ์ผลเพื่อขจัดการเป็นทาสสมัยใหม่ให้หมดสิ้นไป เป้าหมายทั้ง 5 ประการ ได้แก่ ก) การระบุตัวตนและการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่รอดชีวิต ข) กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เหมาะสม ค) การให้ความร่วมมือและสำนึกรับผิดชอบภายในรัฐบาลกลาง ง) ระบุแจ้งการกระทำ ระบบสังคม และสถาบันใดๆที่ส่งเสริมการเป็นทาสสมัยใหม่ และ จ) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคธุรกิจ นาย Mo Ibrahim ผู้ก่อตั้งดัชนี Mo Ibrahim Index และมูลนิธิ Mo Ibrahim Foundation กล่าวว่า “การเป็นทาสสมัยใหม่ถือเป็นอาชญากรรมด้านมืดและขึ้นชื่อว่าคำนวณเป็นตัวเลขได้ยาก แต่มูลนิธิ Walk Free Foundation กำลังชูประเด็นอาชญากรรมที่เลวร้ายนี้เป็นที่ประจักษ์ด้วยวิธีค้นคว้าวิจัยที่ทันสมัยและวิธีการสำรวจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทุกปี เราขอขอบคุณคุณ Andrew Forrest ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจต่อปัญหานี้” ดัชนีนี้จัดทำโดยใช้ตัววัดที่เที่ยงตรงและสมบูรณ์ที่สุดในแง่ของขอบเขตและความเสี่ยงของการเป็นทาสสมัยใหม่ และนำเสนอบทวิเคราะห์ในเรื่องอัตราผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์ของประชากรของประเทศ (อัตราของประชากร) และจำนวนของผู้ถูกกดขี่เยี่ยงทาสทั้งหมด (จำนวนสัมบูรณ์) จำแนกตามประเทศและภูมิภาค ท่านสามารถดูรายงานดัชนีการค้าทาสสากลได้ที่ [1] กรุณาสังเกตว่าในบทความนี้คำว่า "ถูกกดขี่เยี่ยงทาส" และ "การเป็นทาส" มีความหมายเดียวกันกับคำว่า "การเป็นทาสสมัยใหม่" และไม่ควรจะตีความโดยสื่อให้เห็นถึงการเป็นทาสในลักษณะดั้งเดิม ที่บุคคลหนึ่ง ๆ ถูกจับเป็นทาสเพื่อเป็นทรัพย์สินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันลักษณะดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายในทุกประเทศทั่วโลก [2] เพื่อจุดประสงค์ของดัชนีการค้าทาสสากล (Global Slavery Index หรือ GSI) คำว่า "ทวีปเอเชีย" หมายถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ (ไม่รวมประเทศภูฏาน) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ