ปภ.แนะวิธีสังเกตและแก้ไขสถานการณ์กรณีรถเบรกแตกอย่างปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Tuesday December 2, 2014 11:26 —ThaiPR.net

Bangkok--2 Dec--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีสังเกตและแก้ไขสถานการณ์กรณีรถเบรกแตกอย่างปลอดภัย โดยเหยียบแป้นเบรกแรงๆ ถี่ๆ ให้ลึกกว่าปกติ ถอนคันเร่งและลดความเร็ว เพื่อให้เครื่องยนต์เกิดการหน่วง จะช่วยลดความเร็วลงได้ ห้ามดึงเบรกมือแบบกระชาก เพราะจะทำให้ล้อหลังล็อก จนรถ เสียการทรงตัวและไถลออกนอกเส้นทางรวมถึงยึดจับพวงมาลัยให้มั่นและนำรถจอดริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า แม้ผู้ขับขี่จะมีความพร้อมในการขับรถ แต่บางครั้งอาจเกิดเหตุฉุกเฉินจากความบกพร่องของส่วนประกอบรถ ทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ การเรียนรู้และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างถูกต้องนับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเอาชีวิตรอดจากเหตุฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีสังเกตและการแก้ไขสถานการณ์กรณีรถเบรกแตก ดังนี้ วิธีสังเกตอาการเบรกแตก ขณะเหยียบเบรกแล้วแป้นเบรกจมลึกจนกระทบกับพื้นรถ เบรกไม่มีแรง เหยียบแป้นเบรกไม่ลง หรือเหยียบเบรกแล้วความเร็วของรถคงที่ วิธีแก้ไขกรณีเบรกแตก ควรเหยียบแป้นเบรกแรงๆ ถี่ๆ ให้ลึกกว่าปกติ เพื่อดึงประสิทธิภาพที่เหลืออยู่ของระบบเบรกมาใช้ จะช่วยชะลอความเร็วรถได้ ถอนคันเร่งและลดความเร็ว เพื่อให้เครื่องยนต์เกิดการหน่วง จะช่วยลดความเร็วลงได้ โดยรถเกียร์ธรรมดา ให้เหยียบคลัตช์และลดตำแหน่งเกียร์ลงตามลำดับความเร็วของรถ ส่วนรถเกียร์อัตโนมัติ ให้กดปุ่ม Overdrive on หรือเปลี่ยนตำแหน่งจากเกียร์ D เป็น 3 ห้ามเปลี่ยนเป็นตำแหน่ง L โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้รถเกิดอาการกระชากจนเสียหลักหรือไถลออกนอกเส้นทาง ดึงเบรกมือขึ้นช้าๆ เพื่อชะลอความเร็วของล้อหลัง ห้ามดึงเบรกมือแบบกระชาก เพราะจะทำให้ล้อหลังล็อก จนรถเสียการทรงตัวและไถลออกนอกเส้นทาง เพื่อความปลอดภัย ควรใช้เบรกมือร่วมกับการใช้เกียร์ต่ำ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการชะลอความเร็วรถ ยึดจับพวงมาลัยให้มั่น โดยเฉพาะ รถที่ใช้ความเร็วสูง ไม่ควรบังคับพวงมาลัยส่ายไปมา เพราะอาจทำให้รถเสียการทรงตัว พร้อมเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินและบีบแตร เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง จากนั้นให้พยายามบังคับพวงมาลัยและนำรถจอดริมข้างทางในบริเวณ ที่ปลอดภัย กรณีเบรกแตกบนทางลาดชัน ให้ลดเกียร์ลงต่ำเพื่อชะลอความเร็วรถเมื่อรถวิ่งมาถึงทางลาดที่มีความชันน้อย ให้ใช้เบรกมือช่วยในการหยุดรถ นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุฉุกเฉินจากเบรกแตก ผู้ขับขี่ควรตรวจสอบน้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เปลี่ยนน้ำมันเบรกทุกๆ 1 – 2 ปี ไม่นำน้ำมันเบรกต่างมาตรฐานมาใช้งานผสมกัน เพราะอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการหยุดรถ พร้อมตรวจสอบความผิดปกติของระบบเบรก โดยสังเกตจุดรั่วซึมของน้ำมันเบรก เสียงดังขณะเหยียบเบรกระยะในการหยุดรถและอาการผิดปกติของแป้นเบรก ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีแก้ไขสถานการณ์กรณีรถเบรกแตก จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ