ปภ.แนะวิธีสังเกตและแก้ไขสถานการณ์กรณีรถคันเร่งค้างอย่างปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Tuesday December 2, 2014 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีสังเกตและการแก้ไขสถานการณ์กรณีคันเร่งค้างอย่างปลอดภัย โดยให้ใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็วรถ เมื่อสามารถลดความเร็วได้ในอัตรา ที่ปลอดภัย ให้ใช้ปลายเท้างัดคันเร่งขึ้นมา หากคันเร่งไม่ขึ้นให้พยายามนำรถจอดริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย รวมถึงห้ามดึงกุญแจหรือปิดสวิตช์เครื่องยนต์ขณะรถกำลังวิ่ง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรงและสามารถควบคุมเหตุฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ความบกพร่องของส่วนประกอบรถ โดยเฉพาะคันเร่งค้างเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ การเรียนรู้และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีสังเกตและการแก้ไขสถานการณ์กรณีรถคันเร่งค้าง ดังนี้ สาเหตุของคันเร่งค้าง มักเกิดจากคันเร่งติดอยู่ในพรมหรือยางรองพื้นรถที่หนาเกินไป คันเร่งหนืด ระบบคันเร่งไฟฟ้าในส่วนของระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำงานผิดปกติ ทำให้รถเกิดการเร่งทั้งที่เหยียบเบรก วิธีสังเกตอาการคันเร่งค้าง เมื่อเหยียบคันเร่งแล้วแป้นคันเร่งจมไปกับพื้นรถหรือค้างไม่สามารถเหยียบ ให้จมลงไปได้ หรือแป้นคันเร่งลื่นเบาผิดปกติ แสดงว่าคันเร่งค้าง สำหรับวิธีแก้ไขกรณีคันเร่งค้าง ให้ใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็วรถ โดยรถเกียร์อัตโนมัติ ให้เปลี่ยนเกียร์มาตำแหน่ง N จากนั้นให้ดับเครื่องยนต์ ปล่อยให้รถเคลื่อนตัวไปช้าๆ สลับกับการแตะเบรกเป็นระยะ ส่วนรถเกียร์ธรรมดาให้ใช้เบรกช่วยชะลอความเร็วโดยไม่ต้องใช้คลัทช์ เพราะจะทำให้รอบเครื่องยนต์สูงขึ้น จึงไม่สามารถลดความเร็วของรถลงได้ เมื่อสามารถลดความเร็วได้ในอัตราที่ปลอดภัย ให้ใช้ปลายเท้างัดคันเร่งขึ้นมา หากคันเร่งไม่ขึ้นให้พยายามนำรถจอดริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย ด้วยการปิดสวิตช์การทำงานของเครื่องยนต์ โดยสามารถทำได้เมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วต่ำและต้องใช้เบรกมือชะลอความเร็วควบคู่กันไปด้วย ห้ามดึงกุญแจหรือปิดสวิตช์เครื่องยนต์ขณะรถกำลังวิ่ง เพราะจะทำให้พวงมาลัยล็อกจนไม่สามารถบังคับทิศทางรถได้ ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีแก้ไขสถานการณ์กรณีคันเร่งค้าง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรง ทำให้สามารถควบคุมเหตุฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ