โพลล์เผยผลสำรวจความคิดเห็นต่อการบริการทางสังคมสู่ผู้พิการ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 3, 2014 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจความคิดเห็นของคนพิการอาชีพต่างๆ เนื่องในโอกาสวันคนพิการสากล 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557 นี้ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้พิการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการอำนวยความสะดวกจากสังคมเพื่อเป็นการสะท้อนความรู้สึกจากกลุ่มผู้พิการให้กับสังคมได้รับทราบ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 490 คนซึ่งเป็นกลุ่มผู้พิการ 3 ประเภทได้แก่พิการทางการเห็น พิการทางการได้ยินและพิการทางร่างกาย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชายคิดเป็นร้อยละ 51.84 ขณะที่ร้อยละ 48.16 เป็นเพศหญิง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 32.86 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 35 ถึง 44 ปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 41.02 และสำหรับประเภทความพิการนั้นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.1 พิการทางการเห็น ร้อยละ 36.12 พิการทางร่างกาย และร้อยละ 18.78 พิการทางการได้ยิน เมื่อเปรียบเทียบการอำนวยความสะดวกจากสังคมในด้านต่างๆระหว่างอดีตกับปัจจุบันนั้นพบว่า ด้านที่มีการอำนวยความสะดวกในปัจจุบันมากขึ้นกว่าในอดีตตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างสูงสุด 3 ด้านได้แก่ ด้านการให้โอกาสทางการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 50.82 ด้านบริการสวัสดิการสังคม/การยังชีพ คิดเป็นร้อยละ 47.96 และด้านการให้โอกาสในการแสดงความสามารถ/การมีส่วนร่วม/การทำประโยชน์ต่อสังคม คิดเป็นร้อยละ 45.31 ขณะเดียวกันการอำนวยความสะดวกในด้านที่กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่ายังคงไม่มีความแตกต่างกันระหว่างอดีตกับปัจจุบันสูงสุด 3 ด้านได้แก่ ด้านการให้โอกาสในการทำงาน/ประกอบอาชีพ คิดเป็นร้อยละ 49.18 ด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆและด้านการเข้าถึงบริการทางการแพทย์/สาธารณะสุขซึ่งคิดเป็นร้อยละ 41.84 และร้อยละ 41.02 ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างถึงประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 21.63 ที่มีความคิดเห็นว่าการอำนวยความสะดวกในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในอาคารสถานที่/ทางสาธารณะสำหรับผู้พิการนั้นมีน้อยลง ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับผู้พิการเข้าทำงานนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.76 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดให้สถานประกอบการ/หน่วยงาน/องค์กรทุกแห่งต้องรับผู้พิการเข้าทำงานแทนการกำหนดโดยอัตราส่วนของจำนวนพนักงานจะมีส่วนช่วยสร้างโอกาสในการทำงานของผู้พิการเพิ่มขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 46.73 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดโทษ/ค่าปรับกับเจ้าของสถานประกอบการ/หน่วยงาน/องค์กรต่างๆซึ่งอยู่ในข่ายที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรับผู้พิการเข้าทำงานแต่ไม่รับจะไม่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้สถานประกอบการ/หน่วยงาน/องค์กรเหล่านั้นหันมารับผู้พิการเข้าทำงานเพิ่มขึ้น ? ในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.92 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดโทษเจ้าของอาคารสถานที่ต่างๆที่ไม่ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการอย่างเหมาะสมเช่น ทางลาด ราวจับ ลิฟท์มีเสียง/อักษรเบรลล์ ภาษาสัญลักษณ์สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ห้องสุขาผู้พิการ เป็นต้น จะมีส่วนทำให้เจ้าของอาคารสถานที่ต่างๆเหล่านั้นหันมาจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการเพิ่มขึ้นได้ ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้พิการ กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.29 มีความคิดเห็นว่าจำเป็นต้องมีการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อสาธารณะเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ/ช่วยเหลือผู้พิการที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.43 ระบุว่าตนเองเคยประสบปัญหาไม่มีผู้ให้ความช่วยเหลือ/ถูกปฏิเสธความช่วยเหลือขณะอยู่บริเวณสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น บนรถประจำทาง ป้ายรถประจำทาง ในอาคารต่างๆเป็นต้นบ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.43 ที่ยอมรับว่าตนเองเคยประสบปัญหาเป็นประจำ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ17.14 ระบุว่าไม่เคยประสบปัญหาเลย ในด้านการขอรับเบี้ยยังชีพผู้พิการ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 86.12 iระบุว่าตนเองขอรับสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้พิการ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.88 ระบุว่าไม่ได้ขอรับสิทธิ์ โดยสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ขอรับสิทธิ์นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.61 ยอมรับว่าตนเองเคยได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการในแต่ละเดือนช้ากว่ากำหนดเวลาปกติที่เคยได้รับอยู่บ้างเป็นบางเดือน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.38 ยอมรับว่าตนเองได้รับล่าช้ากว่ากำหนดเป็นประจำ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.01 ระบุว่าตนเองไม่เคยได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการในแต่ละเดือนช้ากว่ากำหนดเวลาปกติเลย และตั้งแต่ขอรับสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้พิการ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 80.09 ระบุว่าตนเองได้รับเบี้ยยังชีพติดต่อกันทุกเดือน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 17.3 ยอมรับว่าตนเองเคยไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการบ้างเป็นบางเดือน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ2.61 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้รับเป็นประจำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ