ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ การันตีความสำเร็จโรงไฟฟ้าฯ

ข่าวทั่วไป Tuesday December 9, 2014 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--Triple J Communication ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ การันตีความสำเร็จโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะ 16 เมกะวัตต์ ก้าวสำคัญของการพัฒนาพลังงานทดแทนจากขยะ ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทน ในอาเซียน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการนำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมความสำเร็จของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะ 16 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดย บริษัท ซินดิคาร์ทุม ซัสเทนเอเบิล รีซอร์สเซส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคว้ารางวัลเกียรติยศด้านพลังงานไทย Thailand Energy Awards 2014 และรางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2014 ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (On-Grid) ว่า ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเจริญเติบโตของสังคมเมือง การขยายตัวภาคอุตสาหกรรม และการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของคนยุคใหม่เป็นผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น ในปี 2556 พบว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเท่ากับ 26.77 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกำจัดแบบไม่ถูกต้อง แต่หากนำขยะมูลฝอย ไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบแบบถูกสุขลักษณะ จะมีผลพลอยได้จากกระบวนการนี้คืนกลับมาในรูปของพลังงานก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลักที่สามารถนำมาเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้ แม้ขยะดังกล่าวจะได้รับการฝังกลบแบบถูกวิธี แต่การย่อยสลายของอินทรียวัตถุประเภทเศษอาหาร เศษผลไม้ภายใต้สภาวะไร้อากาศ จะก่อให้เกิดการปล่อย ก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่มีความรุนแรงมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 21-25 เท่า นายอารีพงศ์ กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า ขยะเป็นอีกขุมทรัพย์พลังงานทดแทนที่จะสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี ของกระทรวงพลังงาน กำหนดให้ประเทศไทยเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2564 ซึ่งขยะนับเป็นหนึ่งในแผนดังกล่าว โดยมีเป้าหมายการผลิตพลังงานในรูปของไฟฟ้าจากขยะ จำนวน 400 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศโดยเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างสะสมที่รอการกำจัดถึง 19.9 ล้านตัน ดังนั้น การนำขยะมูลฝอยมาผลิตเป็นพลังงาน นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ปัจจุบันประเทศไทย มีโรงไฟฟ้าขยะที่เดินเครื่องและมีการขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแล้ว จำนวน 65 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าจากหลุมฝังกลบขยะถึง 24.5 เมกะวัตต์ ด้าน นายโรเบิร์ต ดริสโคล ประธานกลุ่ม บริษัท ซินดิคาร์ทุม ซัสเทนเอเบิล รีซอร์สเซส (ประเทศไทย) ในฐานะ ผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ขนาด 16 เมกะวัตต์ (2x8 เมกะวัตต์) กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพหลุมฝังกลบที่มีการฝังกลบขยะรวมมากกว่า 5,500 ตันต่อวัน และก๊าซชีวภาพที่เก็บรวบรวมได้นั้นมีองค์ประกอบของก๊าซมีเทนเฉลี่ยมากกว่า 50 % ซึ่งสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ จึงมีการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ ขนาด 8 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรงคือ บริษัท ซีนิท กรีนเอ็นเนอยี จำกัด และบริษัท บางกอก กรีนเพาเวอร์ จำกัด ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยโรงไฟฟ้าขนาด 8 เมกะวัตต์ แต่ละโรงแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ระบบบำบัดก๊าซก่อนเข้าเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาด 15,000ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ประกอบด้วย เครื่องดูดก๊าซ (Root blower) เครื่องทำความเย็น (Chiller) และเครื่องกรองก๊าซ (Filter) 2. ระบบเผาก๊าซ (Flaring System) ขนาด 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง 3 ชุด 3. เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาด 1.063 MW จำนวน 8 เครื่อง โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เผาไหม้สมบูรณ์เพื่อควบคุมคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ปัจจุบันโรงไฟฟ้าฯ สามารถผลิตไฟฟ้าได้แล้วทั้งสิ้น ประมาณ 482,000 MWhเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1,919,912 ตัน CO2 เทียบเท่า (ตั้งแต่ 2554-2557) โดยเฉลี่ยผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายเดือนละ 10,000 MWh โดย บริษัท ซีนิท กรีน เอ็นเนอยี จำกัด ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นรวม 491.28 ล้านบาท ระยะคืนทุน 5.55 ปี บริษัท บางกอก กรีนเพาเวอร์ จำกัด ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นรวม 400.77ล้านบาท ระยะคืนทุน 5.40 ปี มากกว่านี้ บริษัทฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการจ้างคนในท้องถิ่นเข้ามาทำงาน ในโครงการมากกว่า 40% ของพนักงานทั้งหมด รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังเปิดกว้างให้หน่วยงานและผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนหรือพื้นที่ที่มีหลุมฝังกลบขยะ ซึ่งมีปริมาณขยะและก๊าซมีเทนจากกระบวนการย่อยสลายมากเพียงพอที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าได้ โดยอาจต้องปรับปรุงการออกแบบ รายละเอียดการดำเนินการ และขนาดกำลังผลิตติดตั้งให้เหมาะสม และสามารถดำเนินการได้อย่างคุ้มทุน นายโรเบิร์ต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ