พบมารดาคลอดบุตรตายสูงถึง 40% ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวทั่วไป Wednesday July 30, 1997 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--30 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
สธ.ร่วมกับองค์การอนามัยโลก และกรรมาธิการสาธารณสุข จัดการประชุมสมาชิกสภาจากประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และจากภูมิภาคอื่น ๆ จำนวนถึง 20 ประเทศ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพสตรีร่วมกัน ขณะนี้พบอัตราตายของมารดาที่คลอดบุตรสูงมากถึง 40% ในภูมิภาคนี้ อันเนื่องมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของสตรี
วันนี้ (30 ก.ค. 40) เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ประพันธ์ ฑีฆวาณิช ผู้อำนวยการสำนักงานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากร ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา และผู้แทนองค์การอนามัยโลก แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเรื่อง สุขภาพสตรีและเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมว่า ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะทวีปเอเซียประสบปัญหาด้านอากาศอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากมีการสูญเสียป่าไปกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดภายในเวลา 30 ปี และยังคงลดลงในอัตรา 1% ต่อปี นอกจากนั้นยังพบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นในชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดโรค
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่สำคัญอีกประการก็คือ เพศ โดยเฉพาะเพศหญิง ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พบสตรีเป็นจำนวนมากขาดความเป็นอิสระและความสามารถในการแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยของตนเอง และมักจะเป็นผู้ด้อยโอกาสในด้านการศึกษา ทำให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ซึ่งจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพศนี้ ส่งผลให้ผู้หญิงมีสภาวะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ในหลายประเทศในภูมิภาคนี้พบการป่วยและตายของมารดาที่คลอดบุตรมีอัตราสูงมากถึง 40% ในจำนวนการตายทั้งสิ้น 250,000 ราย/ปี
อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ได้พยายามดำเนินการแก้ปัญหาทางด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมไปบ้างแล้ว เช่น ประเทศอินโดนีเซียได้จัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีในการควบคุมมลพิษ ประเทศเนปาลได้ออกกฏหมายค่าปรับการทิ้งขยะในที่สาธารณะ ประเทศอินเดียได้เริ่มส่งเสริมการใช้พลังแสงอาทิตย์ ประเทศมัลดีฟส์ได้ประกาศห้ามการทำเหมือนปะการัง และสำหรับประเทศไทย ได้ดำเนินมาตรการหลายประการได้แก่ การควบคุมการกำจัดน้ำเสียของผู้ประกอบการ การส่งเสริมการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วโดยการลดภาษีน้ำมัน การให้เงินสนับสนุนการควบคุมการใช้พลังงาน การเสียภาษีที่ดินและเพิ่มภาษีในเรื่องที่ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดิน เป็นต้น
ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ร่วมกับองค์การอนามัยโลก จึงได้จัดให้มีการประชุมสมาชิกสภาฝ่ายแพทย์นานาชาติ IMPO SEARO 1997 ขึ้นที่โรงแรมดุสิตธานี ระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2540 เรื่องสุขภาพสตรีและเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมประกอบด้วยสมาชิกสภาจากประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และจากภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และอนามัยจากประเทศต่าง ๆ รวม 20 ประเทศ จำนวน 75 คน เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการวางแผนและดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของสตรีในอนาคตต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ