ที่มาของ ส.ส. ส.ว. และนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Tuesday December 30, 2014 14:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ที่มา ส.ส. ส.ว. และนายกรัฐมนตรี” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 – 28 ธันวาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการสรรหาและที่ไปที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนายกรัฐมนตรี ในประเด็นต่าง ๆ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มี ส.ส.จำนวน 450 คน แบ่งเป็นระบบเขตเลือกตั้ง 250 คน และระบบสัดส่วน 200 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.74 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ การนับคะแนนระบบเขตเลือกตั้งทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก และการมีส.ส. ระบบเขตน้อยลงเป็นการช่วยลดปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงรองลงมา ร้อยละ 18.87 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ถือว่ายังมีจำนวน ส.ส. มากเกินไปและต้องการ ส.ส. จำนวนไม่มาก แต่มีคุณภาพ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ในขณะที่บางส่วนบอกว่ามีน้อยเกินไปและอาจจะทำให้ดูแลประชาชนได้ไม่ทั่วถึง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าถ้าเป็นไปได้ ควรมีแค่ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมด เพียงอย่างเดียว และ ร้อยละ 10.39 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้มีการแบ่งโซนพื้นที่เลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วน เป็น 8 กลุ่ม โดยใช้ภูมิภาคเป็นตัวแบ่งเขต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.37 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ สามารถสรรหาบุคคลได้อย่างทั่วถึง ช่วยลดความขัดแย้งในภาคส่วนต่าง ๆ ส.ส. ที่เป็นคนในพื้นที่สามารถเข้าใจถึงปัญหาและสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี รองลงมา ร้อยละ 24.27 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ในบางพื้นที่ที่มีประชากรน้อย อาจจะไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสม และเกิดความแตกแยก ขาดความสามัคคี ควรแบ่งตามระบบเดิมจะดีกว่า และ ร้อยละ 9.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า ผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.66 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้ไม่ต้องยึดติดกับพรรคการเมืองหรือเกิดการเล่นพรรคเล่นพวกมากเกินไป เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลอิสระจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาเป็นตัวแทนประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ ช่วยลดการสร้างอำนาจหรือการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนเช่นที่ผ่านมา รองลงมา ร้อยละ 30.93 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ อาจจะทำให้การทำงานการแก้ไขปัญหาประเทศค่อนข้างลำบาก เพราะต้องทำงานกันเป็นทีม หากไม่สังกัดพรรคการเมือง ประชาชนจะไม่ทราบถึงนโยบายต่าง ๆ ในการทำงานที่แน่ชัด ควรมีที่ไปที่มาโดยมีพรรคการเมือง เป็นฐานเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและการทำงาน และ ร้อยละ 3.41 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ส. ในสภาฯ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.36 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ มองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย มิได้เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเห็นชอบหรือเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เป็นการใช้อำนาจผูกขาดจาก ส.ส. มากเกินไป จนละเลยเสียงของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 34.58 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ถ้ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง สุดท้ายก็เกิดการทุจริตการซื้อเสียงเพื่อให้ได้ตำแหน่ง ซึ่งส.ส. ควรสรรหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ หรืออาจเป็นอดีตนักการเมืองเก่า ข้าราชการ นักการเมืองอิสระที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและ ร้อยละ 2.06 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีจำนวนไม่เกิน 200 คน โดยมาจากการสรรหา 4 กลุ่ม และเลือกตั้งทางอ้อม 1 กลุ่ม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.24 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ต้องการให้ ส.ว. มาจากหลากหลายกลุ่มสาขาอาชีพ ที่มีความรู้ ความสามารถ มากด้วยคุณภาพ เกิดความคิดใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศชาติ หากมีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในสัดส่วนที่มากเกินไปหรือทั้งหมด ก็ยังคงมีปัญหาการทุจริตซื้อสิทธิ์ขายเสียงเช่นเดิม รองลงมา ร้อยละ 35.85 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว. ควรมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมด หากเป็นการสรรหา อาจมีการใช้ระบบพวกพ้องหรือเกิดการซื้อขายตำแหน่งกัน และ ร้อยละ 9.91 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 19.83 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 20.78 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 19.83 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 19.59 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 57.02 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 42.98 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.00 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 32.61 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 48.79 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 11.59 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.93 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 4.26 นับถือศาสนาอิสลาม และตัวอย่างร้อยละ 0.80 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 25.81 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 72.42 สมรสแล้ว และตัวอย่างร้อยละ 1.77 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 21.28 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 30.26 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.06 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 32.69 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และตัวอย่างร้อยละ 6.72 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 16.69 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 16.69 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 23.91 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 11.67 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 14.18 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 12.40 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ตัวอย่างร้อยละ 4.46 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.69 ไม่มีรายได้ ตัวอย่างร้อยละ 18.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 31.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 14.83 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 6.82 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 10.07 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 5.55 ไม่ระบุรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ