ไปรษณีย์ไทย จับมือ พระจอมเกล้าลาดกระบัง พัฒนาการส่ง เปิดตัวตู้นำจ่ายอัตโนมัติ 24ชั่วโมง ของขวัญปีใหม่เพื่อคนไทย ปี 58

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 30, 2014 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) จับมือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พัฒนาและส่งเสริมการวิจัย เพื่อนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในกิจการไปรษณีย์ ล่าสุดเปิดตัว “ตู้นำจ่ายไปรษณีย์อัตโนมัติ หรือ “Drop Box” ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง เป็นของขวัญปีใหม่เครื่องแรกของไทย พร้อมเตรียมยกเครื่องระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ อาทิ ระบบคลังของข้อมูลสารสนเทศ ตู้บรรทุกของรถยนต์ขนส่งถุงไปรษณีย์ เครื่องคัดแยกไปรษณียภัณฑ์แบบอัตโนมัติ บรรจุภัณฑ์แบบใหม่สำหรับบรรจุสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่มีความเหมาะสมแข็งแรง การใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนจากแผงโซลาเซลล์ การวิจัยพัฒนาเครื่องจักรกลคัดแยก เป็นต้น นายปิยะวัตร์ มหาเปารยะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานระบบปฏิบัติการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ไปรษณีย์ไทย ในฐานะผู้ให้บริการด้านไปรษณีย์กับคนไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงการบริการไปรษณีย์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จึงร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการวิจัยและพัฒนา คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ระบบการให้บริการไปรษณีย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้ลงนามความร่วมมือเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์ ได้แก่ การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัย และเหมาะสมสำหรับรองรับการให้บริการรับฝาก ส่งต่อและนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ ศึกษาและออกแบบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการหุ้มห่อสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ พัฒนาเครื่องจักรกลไปรษณีย์พร้อมบาร์โค้ด (Barcode) และระบบจีพีเอส (GPS) พัฒนาระบบการขนส่งโลจิสติกส์ การบริหารคลังสินค้าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ทันสมัยรองรับการให้บริการไปรษณีย์ พัฒนาระบบบริหารจัดการ Big data Big analysis และ Data mining พัฒนาการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้าโดยใช้แผงโซลาเซลล์หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เป็นต้น นายปิยะวัตร์ กล่าวต่อว่า ไปรษณีย์ไทย ได้ประเดิมความร่วมมือดังกล่าว ด้วยการเปิดตัว “ตู้นำจ่ายไปรษณีย์อัตโนมัติ หรือ “Drop Box” ซึ่งประชาชนเพียงลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอรับสิ่งของผ่านทางเว็บไซต์ เมื่อสิ่งของถึงปลายทาง พนักงานนำจ่ายจะนำสิ่งของจ่ายเข้าตู้ฯ และระบบฯ จะทำการส่ง SMS แจ้งผู้รับพร้อมรหัส เพื่อรับสิ่งของที่ “ตู้นำจ่ายไปรษณีย์อัตโนมัติที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด โดยตู้นำจ่ายไปรษณีย์อัตโนมัติดังกล่าว จะนำร่องทดสอบระบบ ณ เคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์เจ้าคุณทหารลาดกระบัง สำหรับตู้นำจ่ายอัตโนมัตินี้มีความแตกต่างจากที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถติดต่อรับสิ่งของได้เฉพาะเวลาทำการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงทดลองการใช้งาน จะยังไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคตอันใกล้ด้วย นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังมุ่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในปี 2558 เริ่มต้นพัฒนาระบบ Data Warehouse หรือระบบคลังของข้อมูลสารสนเทศซึ่งเป็นระบบที่จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการจากข้อมูลสมาชิก ที่สามารถนำไปต่อยอดในการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าด้วยระบบบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ หรือ Data mining ในปี 2560 ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยังมีแผนการออกแบบและพัฒนาตู้บรรทุกของรถยนต์ขนส่งถุงไปรษณีย์ เครื่องคัดแยกไปรษณียภัณฑ์แบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งเครื่องจักรเพื่อรองรับการขนส่งไปรษณีย์ขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบใหม่สำหรับบรรจุสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่มีความเหมาะสมแข็งแรง การใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนจากแผงโซลาเซลล์ การวิจัยพัฒนาเครื่องจักรกลคัดแยก เพื่อนำมาใช้งานทดแทนอัตรากำลังคน เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำงาน ฯลฯ ทั้งนี้ คาดว่าหากสามารถพัฒนาระบบดังกล่าวได้เสร็จสมบูรณ์จะสามารถให้บริการคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นายปิยะวัตร์ กล่าว ศาสตราจารย์ ดร. โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คือการยกระดับสถาบันไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีจุดเด่นในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ภายใต้แนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation” โดยไม่ได้มุ่งผลิตนักศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญทางสาขาวิชาชีพของตนเท่านั้น แต่ต้องสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ของตนในการคิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนจากภายนอกกว่า 100 โครงการ อาทิ อาคารประหยัดพลังงานต้นแบบ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชุมชน จ.พิษณุโลก เครื่องแยกพันธุ์ข้าวหอมมะลิจากพันธุ์ปลอมปน สมาร์ทมิเตอร์ เครื่องส่งต้นแบบการแพร่ภาพโทรทัศน์ระบบดิจิตอลสำหรับชุมชน อากาศยานสำรวจสังเกตการณ์ เป็นต้น โดยความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยในครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยและผู้ใช้บริการไปรษณีย์ที่จะได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจาก ไปรษณีย์ไทย หน่วยงานที่มีความจริงใจและคู่คนไทยมายาวนาน ทั้งนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ศกนี้ ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้บริหารเข้าร่วมงานจำนวนมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ