ภาคเกษตรปี 57 ขยาย 1.2 เตือนภัยแล้งส่งสัญญาณกระทบปีหน้า เกษตรฯ พร้อมประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด

ข่าวทั่วไป Monday January 5, 2015 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 57 ขยาย 1.2 เกษตรฯ แจง อากาศเอื้ออำนวยดึงผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญเพิ่ม บวกกับการวางแผนการผลิตปศุสัตว์ที่ดี ในขณะที่ภัยแล้งและกุ้งตายด่วนยังเป็นปัจจัยฉุดภาคเกษตร คาด ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.0 - 3.0 เตือนภัยแล้งส่งผลกระทบตั้งแต่ช่วงปลายปี 57 ด้านกระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและประเมินสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดแล้ว นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลประมาณการอัตราการเติบโตภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยสาขาการผลิตที่เป็นแรงหนุนให้ภาคเกษตรขยายตัวได้ในปีนี้ คือ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ส่วนสาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง โดยปัจจัยสนับสนุน ที่ทำให้ภาคเกษตรขยายตัว คือ สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ต่างๆ ทำให้ผลผลิตพืชดังกล่าวเพิ่มขึ้น ในส่วนของการผลิตสินค้าปศุสัตว์ มีการวางแผนการผลิตที่ดี มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน และการเฝ้าระวังและควบคุม โรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญเพิ่มขึ้น รวมทั้งการผลิตสินค้าเกษตร มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากมาตรการและนโยบายของภาครัฐ เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นและค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ส่วนปัจจัยลบ ที่ทำให้ภาคเกษตรหดตัว ได้แก่ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2557 ซึ่งขยายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ทำให้การผลิตข้าวนาปรังได้รับผลกระทบอย่างมาก นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และในช่วงเดือนกันยายน 2557 บางพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชที่สำคัญหลายชนิดประสบภัยน้ำท่วม เช่น จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ และอยุธยา ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย อีกทั้งปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ที่มีความรุนแรงอย่างมากในปี 2556 ยังคงส่งผลต่อเนื่องมายังการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในช่วงปี 2557 ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มั่นใจและทำการผลิตไม่เต็มที่ ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า หากพิจารณาเป็นรายสาขาจะพบว่า สาขาพืช ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) โดยข้าวนาปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร ประกอบกับปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีลดลงจากปีที่ผ่านมา เพราะความไม่มั่นใจในเรื่องผลตอบแทนจากการขายข้าว รวมทั้งราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานทดแทน ส่วนผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง และสับปะรดโรงงาน ด้านราคา สินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และมังคุด และสินค้าพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยางพารา ลำไย ทุเรียน และเงาะ สาขาปศุสัตว์ ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เนื่องจากการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีการปรับระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาด รวมถึงการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยปริมาณการผลิตปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขณะที่การผลิตสุกรลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปัญหาโรคระบาด ส่วนจำนวนแม่โครีดนมลดลง ทำให้ปริมาณน้ำนมดิบลดลงด้วย ส่วนด้านราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี สาขาประมง ปี 2557 หดตัวร้อยละ 1.8 เนื่องจากผลผลิตประมงทะเลลดลง โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงยังคงออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาโรคตายด่วนที่ยังพบในแหล่งผลิตสำคัญของไทย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในสถานการณ์โรค จึงชะลอการผลิตกุ้งออกไป ส่วนด้านราคา พบว่า ราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2557 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 192 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 สาขาบริการทางการเกษตร ปี 2557 หดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีลดลง ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวนาปรังบางส่วนได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีการจ้างบริการรถไถและรถแทรกเตอร์ในการเตรียมดินและไถพรวนดิน รวมถึงรถเกี่ยวนวดข้าวลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการปลูกอ้อยของรัฐบาลและโรงงานน้ำตาล ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถไถเตรียมดิน และรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้น สาขาป่าไม้ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยผลผลิตไม้ยางพารา น้ำผึ้ง และถ่านไม้ เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคายางพาราในประเทศตกต่ำ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากเข้าร่วมโครงการสงเคราะห์และส่งเสริมการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น ปาล์มน้ำมันและไม้ผล ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยมีพื้นที่ตัดโค่นเกินกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ 300,000 ไร่ สำหรับผลผลิตและมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งขยายตัวเนื่องจากน้ำผึ้งของไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศทั้งเยอรมนี ไต้หวัน และประเทศแถบตะวันออกกลาง ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 โดยสาขาการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 – 3.2 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 สำหรับสาขาประมง คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมา 2 ปี โดยขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 ส่วนสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-3.0) – (-2.0) สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ อาทิ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และโคนม ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนสถานการณ์การระบาดของโรคตายด่วนในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 และคาดว่าการผลิตกุ้งจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในปี 2558 นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป รวมทั้งตลาดอาเซียน และตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงปี 2558 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้งซึ่งเริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 โดยปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อยและไม่เพียงพอต่อการปลูก ข้าวนาปรัง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการติดตามและประเมินสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ