ก.พลังงานโชว์ผลงานปี 57 ปรับโครงสร้างพลังงานน้ำมัน/ไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 8, 2015 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น กระทรวงพลังงานคาดการณ์ทิศทางปี’58 การใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัว เร่งจัดทำแผน PDP 2015 สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในภาคไฟฟ้า และปรับโครงสร้างราคาพลังงานต่อเนื่องป้องกันการบิดเบือน พร้อมโชว์ผลงานเด่นปี’ 57 ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ลดราคาน้ำมันสอดคล้องราคาน้ำมันตลาดโลก ลดค่า Ft นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยทิศทางในปี 2558 คาดว่าการใช้พลังงานจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งภารกิจของกระทรวงพลังงานต้องตอบสนองต่อการจัดหาพลังงานให้เพียงพอ และการปรับโครงสร้างและดำเนินแผนงานด้านพลังงานในระยะยาว โดยมีภารกิจที่สำคัญใน 4 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง การกำกับราคาและกิจการพลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน และการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยจะมีการจัดทำและผลักดันแผนระยะยาวไปสู่การปฏิบัติ ทั้งแผน PDP แผนพัฒนาพลังงานทดแทน แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนก๊าซธรรมชาติ และแผนน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด คาดว่ายังทรงตัวในระดับปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสอันดีของกระทรวงพลังงานในการดำเนินการปรับโครงสร้างราคาพลังงานต่อเนื่อง ทั้งด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาไฟฟ้า โดยจะมีการปรับโครงสร้างภาษีและกองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันแต่ละชนิดให้มีความเหมาะสม ไม่ให้เกิดการบิดเบือนของความต้องการใช้ บริหารจัดการกองทุนน้ำมันอย่างเหมาะสมให้เป็นกลไกรักษาเสถียรภาพราคา เป็นต้น และขอความร่วมมือประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัดแม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจะลดลงก็ตาม ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปี 2557 กระทรวงพลังงานสามารถดำเนินภารกิจที่สำคัญให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ตามแผนพลังงานของประเทศที่ยึดหลักความสมดุล 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) 2. ด้านเศรษฐกิจ (Economy) และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) โดยในส่วนของการจัดการการใช้พลังงาน (Demand Management) มีผลงานที่สำคัญ คือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนและเกิดประสิทธิภาพ การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือแผน PDP 2015 เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในภาคไฟฟ้า โดยได้มีการบูรณาการกับแผนการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคไฟฟ้าในกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม (อุตสาหกรรม อาคารธุรกิจ ที่อยู่อาศัย และภาครัฐ) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 89,672 ล้านหน่วย ในปี 2579 ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการภาษีและมาตรการด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงาน การกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานในอาคาร (Building Code) เป็นต้น รวมถึงได้บูรณาการกับแผนงานพัฒนาพลังงานทดแทนในภาคไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ชีวมวลและก๊าซชีวภาพให้ได้เต็มตามศักยภาพเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกับเกษตรกรและชุมชน โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามรายภูมิภาค (Zoning) ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพลังงานหมุนเวียน รวมถึงมาตรการส่งเสริม โดยใช้วิธีการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ส่วนด้านการบริหารการจัดหาพลังงาน (Supply Management) มีผลงานที่สำคัญ ได้แก่ การเปิดให้ยื่นสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบ 21 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ รวมถึงมีการส่งเสริมการแข่งขันในระบบกิจการก๊าซฯ โดยการเตรียมเปิดให้บุคคลที่สาม (Third Party Access) ใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อก๊าซธรรมชาติ สำหรับในอุตสาหกรรมน้ำมันได้มีการผลักดันให้นำโรงกลั่นน้ำมัน SPRC เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ลดการผูกขาดของรายใดรายหนึ่ง สำหรับสถานการณ์พลังงานประเทศไทยปี 2557 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นมีการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2.045 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนการใช้มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 45 รองลงมาคือ น้ำมัน ร้อยละ 36 สำหรับมูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2557 มีมูลค่า 2,168,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 39,644 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ด้านมูลค่าการนำเข้าพลังงาน มีมูลค่า 1,408,807 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 ประมาณ 6,913 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.5 ส่วนมูลค่าการส่งออกพลังงาน มีมูลค่ารวม 330,254 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 ประมาณ 45,493 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 12.1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ