รมว.พม. เร่งแก้ไขปัญหาสังคมรายวัน พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว

ข่าวทั่วไป Wednesday January 14, 2015 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--พม. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ ๗/๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากกรณีเด็กชายอายุ ๖ ขวบ ป่วยเป็นโรคน้ำท่วมสมอง แขนและขาลีบมาตั้งแต่กำเนิด อีกทั้งครอบครัวมีฐานะยากจน ซึ่งพ่อและย่า มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เพื่อนำเงินมาเลี้ยงดู ส่วนแม่แท้ๆ พอทราบว่าเด็กพิการ ก็ขอแยกทางกับสามี ทิ้งลูกไว้ และหนีไปโดยไม่เคยกลับมาดูแล ที่จังหวัดนครราชสีมา และกรณียายพิการอายุ ๕๗ ปี วอนขอความเมตตาช่วยเหลือหลานชายวัย ๖ ขวบ ที่ป่วยด้วยโรคอ้วน มีน้ำหนักเกือบ ๑๐๐ กิโลกรัม และเป็นสารพัดโรครุมเร้า ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งทั้ง ๒ กรณีนี้ ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (สนง.พมจ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลด้านการรักษาพยาบาลของเด็กอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทยประสบปัญหาภัยหนาวอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งตนมีความห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยหนาวและต้องการได้รับความช่วยเหลือผ้าห่มกันหนาว จึงได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่สำรวจผู้ที่ประสบภัย โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อนตามภารกิจงานของกระทรวงฯ พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ตนยังได้เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยการให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเพิ่มเติม โดยปัจจุบันได้จัดตั้งไปแล้วจำนวน ๘๗๘ แห่งในทุกอำเภอทั่วประเทศ ซึ่งทุกศูนย์ฯมีความเข้มแข็งในการดำเนินงานอยู่แล้ว ขอให้แต่ละศูนย์ฯรักษามาตรฐานการดำเนินงานและพัฒนางานในด้านต่างๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุทั่วประเทศ และเตรียมความพร้อมรับมือในการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและเข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ