กระทรวงเกษตรฯ หารือเกษตรกรและผู้ประกอบการ ถึงแนวทางพัฒนาการผลิตและการตลาดไหม เพื่อการผลิตไหมให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday January 15, 2015 08:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางพัฒนาการผลิตและการตลาดไหม ว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายหลักในการทดแทนการนำเข้าด้วยสินค้าที่มีคุณภาพภายในประเทศ ซึ่งมีสินค้าที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ไหมของไทย ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไหม รวมถึงเกษตรกรและการเชื่อมโยงกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงได้หารือถึงปัญหาและอุปสรรค และแนวทางการแก้ปัญหา ร่วมกับ เกษตรกรและผู้ประกอบการผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการผ้าไหมและนำเข้าเส้นไหม กลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายผ้าไหม กลุ่มผู้ผลิตเส้นไหมอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ผลิตเส้นไหมไทยลูกผสม และกลุ่มผู้ผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้าน โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทบทวนยุทธศาสตร์ในการทำงาน นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า ต้องมีพัฒนาการผลิตไหมให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการขยายยุทธศาสตร์ เพื่อให้สามารถเป็นผู้นำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้ ซึ่งมีภาพรวมการส่งออกในระบบหม่อนไหมทั้งหมดในปี 2557 มีมูลค่า 1,077,483,683 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ 204,217,435 บาท หรือคิดเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น 23.39 โดยในปี 2557 ผ้าไหม ซึ่งเป็นสินค้ากลางน้ำ มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดที่ 496,499,291 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึงร้อยละ 76.26 สำหรับสินค้าต้นน้ำซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ รังไหม เส้นไหม ด้ายไหม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.80 และสินค้าปลายน้ำ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไหม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.95 เมื่อเทียบปีต่อปี ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีจำนวนทั้งสิ้น 117,196 ราย จำแนกออกเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมหัตถกรรม 71,630 ราย คิดเป็นร้อย 61 เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอุตสาหกรรม 2,552 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 เกษตรกรผู้ทอผ้าไหมและทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม 42,108 ราย คิดเป็นร้อยละ 36 และเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนผลสด 906 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 โดยมีพื้นที่ปลูกหม่อนทั่วประเทศอยู่ 56,221.5 ไร่ โดยกรมหม่อนไหมได้ให้บริการปัจจัยการผลิต (พันธุ์หม่อน-ไข่ไหม-ไม้ย้อมสี-วัสดุย้อมสี) แก่เกษตรกร โดยการดำเนินโครงการศูนย์อนุรักษ์พันธุ์หม่อนไหม ไม้ย้อมสี ผ้าไหม และภูมิปัญญาหม่อนไหม ตรวจสอบและบริหารการจัดการมาตรฐานเส้นไหม มกษ.8000-2555 การจัดทำระบบเชื้อพันธุกรรมไหม การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหม การนำร่องระบบอัจฉริยะไหมไทย ตลอดจนบริการและติดตามผลต่อเนื่องการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทั่วประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ