วว. เปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการอบผลไม้ด้วยไอน้ำเพื่อการส่งออกภาคเหนือตอนบน ลดการใช้สารเคมี สร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ไทย ยกระดับกระบวนการผลิตสู่มาตรฐานสากล

ข่าวทั่วไป Monday January 26, 2015 18:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมการส่งออกผลไม้ไทยให้ได้มาตรฐานสากล จัดตั้งโรงงานต้นแบบเทคโนโลยีอบผลไม้ด้วยไอน้ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีประสิทธิภาพรองรับผลผลิตได้วันละ 5 ตัน ช่วยลดการใช้สารเคมี สามารถทำลายไข่ของแมลงวันทองได้ คงคุณค่าสารอาหารและรสชาติ ตลอดจนยืดอายุของผลไม้ที่ผ่านการอบได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า จากมาตรการสากลในการควบคุมการส่งออกผลผลิตการเกษตร มีความจำเป็นยิ่งที่ผู้ประกอบการผลไม้ไทยซึ่งจะส่งออกไปยังต่างประเทศจะต้องให้ความสำคัญในด้านคุณภาพ โดยเฉพาะขนาดที่เป็นเกรดพรีเมี่ยม ต้องปราศจากแมลงศัตรูพืช ซึ่งส่วนใหญ่สามารถกำจัดโดยใช้วิธีการอบไอน้ำ อันเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าได้บริโภคผลไม้ที่มีรสชาติดีและปลอดภัยจากประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกผลไม้จากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายให้ วว. และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีการอบไอน้ำขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตและมาตรฐานของผลไม้จากประเทศไทย โดยปรับปรุงเป็นโรงงานต้นแบบเทคโนโลยีการอบผลไม้ด้วยไอน้ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ณ ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ทั้งนี้ “มะม่วง” เป็นผลไม้นำร่องโครงการที่นำเข้าสู่โรงงานดังกล่าว ซึ่งภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีการปลูกผลไม้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจังหวัดแพร่ที่ให้ความสำคัญกับการปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศเหมาะสม โดยมีการเพาะปลูกกว่า 4,000 ไร่ นอกจากนี้จังหวัดอื่นๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ยังมีพื้นที่ปลูกมะม่วงอีกกว่า 6,000 ไร่ และไม่เพียงแต่มะม่วงที่เป็นพืชเศรษฐกิจเท่านั้น ผลไม้ชนิดอื่น เช่น มังคุด กล้วย สับปะรด ก็มีคุณภาพและศักยภาพในการส่งออกเช่นกัน โดยประเทศไทยส่งออกผลไม้คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี มีประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ดร.สุริยา สาสนรักกิจ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวถึงบทบาทด้านเศรษฐกิจของงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการอบผลไม้ด้วยไอน้ำของ วว. ว่า จะทำให้เกิดการส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้พื้นเมืองโดยการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ เกิดเงินหมุนเวียนในระบบและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยให้สูงขึ้น เกิดการกระจายรายได้ มีการต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มขึ้น สามารถสร้างงานให้กับชุมชนและเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง รวมทั้งลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมะม่วง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศ ดร.พิศุทธิ์ อาคม นักวิจัย ฝ่ายวิศวกรรม วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาโรงงานต้นแบบเทคโนโลยีการอบผลไม้ด้วยไอน้ำ กล่าวถึงกระบวนการทำงานของโรงงานต้นแบบฯ ว่า 1.เริ่มต้นด้วยการตัดแต่งขั้วผลไม้ที่จะนำมาอบ 2.นำผลไม้มาล้างทำความสะอาดเพื่อขจัดสิ่งสกปรก ประกอบด้วยระบบการล้าง 3 ขั้นตอน (1.ล้างด้วยคลอรีน 2.ล้างด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส 5 นาที และ 3.การลดอุณหภูมิที่อุณหภูมิห้องโดยใช้น้ำเย็น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผลไม้) จากนั้นนำผลไม้ไปผึ่งแห้ง แล้วนำไปอบที่อุณหภูมิ 47 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95% ในเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้ไข่แมลงวันทองที่ติดมากับผลไม้ฝ่อ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัด จากนั้นนำผลไม้เข้าสู่กระบวนการบรรจุภัณฑ์ เพื่อเตรียมการจัดส่งสำหรับจำหน่ายต่อไป “โรงงานต้นแบบเทคโนโลยีการอบผลไม้ด้วยไอน้ำที่ วว. ดำเนินการปรับปรุงสำเร็จนี้ จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีการอบผลไม้ด้วยไอน้ำที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถรองรับผลผลิตผลไม้ในพื้นที่ 10 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน รวมถึงจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร นับเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร เอกชน วิสาหกิจ ชุมชน สหกรณ์ มีประสิทธิภาพสามารถรองรับผลผลิตมะม่วงได้วันละ 5 ตัน สามารถทำลายไข่ของแมลงวันทองได้ และยังคงคุณค่าของสารอาหารและรสชาติของผลไม้ ตลอดจนยืดอายุของผลไม้ที่ผ่านการอบได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ รวมถึงมีมาตรฐานที่สามารถส่งออกมะม่วงไปยังประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการกักกันพืชที่เข้มงวดได้” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับจากโรงงานต้นแบบเทคโนโลยีการอบผลไม้ด้วยไอน้ำ วว. ได้ที่ Call center โทร. 0 2577 9300 หรือที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : tistr@tistr.or.th www.tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ