สพฐ. เร่งเปิดศูนย์ขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เพื่อยกระดับสถานศึกษาไทย ตั้งเป้าปี 60 มีศูนย์ฯ ครบทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 2015 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--นิโอ ทาร์เก็ต สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขานรับนโยบายการพัฒนาด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจัดตั้ง “ศูนย์ขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” ขึ้น โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารสถานศึกษาและการจัดการศึกษาในทุกมิติ เพื่อยกระดับสถานศึกษาทั่วไป สู่สถานศึกษาพอเพียง และโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาตามลำดับ ตั้งเป้าในปี 2558 มีศูนย์การเรียนรู้ฯ ครบทุกจังหวัด ทั้งในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และครบทุกเขตพื้นที่ ภายในปีการศึกษา 2560 นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า "สพฐ. ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารสถานศึกษาและการจัดการศึกษาในทุกมิติ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทั้งผู้บริหารและคณะครูให้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง พร้อมทั้งสนองนโยบายของรัฐในการขับเคลื่อนค่านิมยมหลัก 12 ประการ โดยดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพสถานศึกษา เพื่อยกระดับสถานศึกษาทั่วไป สู่สถานศึกษาพอเพียง และโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาตามลำดับ ทำให้ปัจจุบันมีสถานศึกษาพอเพียง รวมทุกสังกัด ทั้งสิ้น 14,602 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ทั้งหมด 47 แห่งรวมทุกสังกัด เป็นศูนย์ฯ ในสังกัด สพฐ. 39 แห่ง กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย และกำหนดเป้าหมาย ขยายผลให้มีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาให้ครบทุกจังหวัดทั้งในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ภายในปีการศึกษา 2558 และให้ครบทุกเขตพื้นที่ ภายในปี 2560" “การจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนฯ เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันและการปฏิบัติภารกิจในทุกมิติ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานของทุกโรงเรียน สู่ระดับสากล ช่วยปลูกฝังและบ่มเพาะผู้เรียน เด็กและเยาวชน ให้มีจิตสำนึกและอุปนิสัย “พอเพียง” (Sufficiency Mindset and Behavior) จะได้สามารถดำรงตนและดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” นายกมลกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ